เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"หมอธีระ" ชี้! ยอดติดเชื้อโควิด-เสียชีวิตของไทยติดอันดับ Top 10 ของโลก แนะ! ผู้ที่เคยติดเชื้อ ควรประเมินสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ


29 เม.ย. 2565, 12:10



"หมอธีระ" ชี้! ยอดติดเชื้อโควิด-เสียชีวิตของไทยติดอันดับ Top 10 ของโลก แนะ! ผู้ที่เคยติดเชื้อ ควรประเมินสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ




วันนี้ (29 เม.ย.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงานสถานการณ์โควิดทั่วโลก โดยระบุว่า

29 เมษายน 2565 ทะลุ 512 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 601,735 คน ตายเพิ่ม 2,332 คน รวมแล้วติดไปรวม512,036,094 คน เสียชีวิตรวม 6,255,531 คน  5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 78.43% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 83.61% การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็น 25.71% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 21.09%



สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ทั้งนี้ จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 25.81% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย หากดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวัน รวม ATK ไทยเราจะติดอันดับ Top 10 ของโลกมาติดต่อกันยาวนานถึง 42 วันแล้ว ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น ติดอันดับ Top 10 ต่อเนื่องมาแล้ว 13 วัน

อัพเดต Long COVID Gao Y และคณะจากจีน ได้ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการทั่วโลกเกี่ยวกับการเกิด Long COVID ทั้งเรื่องอาการจำแนกตามช่วงเวลาที่เกิด รวมถึงผลการตรวจทางรังสี และผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต โดยจำแนกให้เห็นอัตราการเกิดอาการต่างๆ ทั้งในช่วง 4-12 สัปดาห์ 6 เดือน และ 1 ปี (ระยะเวลาในการติดตามผลนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละงานวิจัย ทั้งนี้อาการจะยาวนานกว่านั้นได้หรือเป็นแบบเรื้อรังได้) Long COVID นั้นเกิดความผิดปกติได้กับทุกระบบของร่างกาย ทั้งสมอง ระบบประสาท จิตและอารมณ์ หัวใจและหลอดเลือด ปอด ไต ทางเดินอาหาร ผิวหนังและเส้นผม ต่อมไร้ท่อ และอื่น ๆ


ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดหนักในช่วงที่ผ่านมาของไทย หากดูสถิติตั้งแต่มกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน จะพบว่ามีหลายจังหวัดที่มีจำนวนการติดเชื้อต่อประชากร 100,000 คนสูงมาก และเป็นผลมาจาการนโยบายในช่วงที่ผ่านมา เช่น ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่กล่องทราย มีอัตราป่วยสะสมสูงถึง 10,539 คนต่อประชากรแสนคน ในขณะที่สมุทรสาคร ซึ่งเคยระบาดหนักในโรงงานและชุมชนตั้งแต่ระลอกสอง มีอัตราป่วย 9,721 คนต่อประชากรแสนคน ทั้งสองจังหวัดนั้นมีอัตราป่วยสะสมในช่วงต้นปีของ 2565 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ (3,033 คนต่อประชากรแสนคน) ถึง 3 เท่า หากรวมคนที่เคยติดเชื้อในช่วงก่อนปี 2565 จะพบว่ามีการติดเชื้อที่สูงมาก คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน นอกจากควรป้องกันตัวให้ดีเพราะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ยังควรประเมินสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ สังเกตอาการผิดปกติที่ต่างจากอดีต และปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษา ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศควรได้รับการลงทุนเพื่อรับมือกับจำนวนผู้ป่วย Long COVID จากการระบาดระลอกใหญ่ตั้งแต่กลางปีก่อนจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง Gao Y et al. The Short- and Long-Term Clinical, Radiological and Functional Consequences of COVID-19. Archivos de Bronconeumología. 28 April 2022.






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.