"ดร.อนันต์" เปิดผลวิจัยพบ แอนติบอดีใน "น้ำลาย" อาจสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ป้องกันโควิด-19 ได้
3 พ.ค. 2565, 10:47
วันที่ 2 พ.ค. 65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เปิดเผยว่า ทีมวิจัยในโคโลราโดได้พัฒนาเทคนิคการตรวจหาแอนติบอดีต่อไวรัสโรค โควิด19 ได้อย่างแม่นยำ เรียกว่า MMIA ( Multiplex Microsphere Immunoassay) โดยสามารถไปตรวจหาปริมาณแอนติบอดีในตัวอย่างต่างๆ ได้ หนึ่งในตัวอย่างที่ทีมสนใจคือ "น้ำลาย" โดยพบว่า ภูมิที่ตรวจพบได้ในเลือด สามารถตรวจวัดได้จากน้ำลายเช่นเดียวกัน ทีมวิจัยพบว่าหน้ากากอนามัยที่ใส่กันทั้งวัน ถ้านำมาตรวจจะพบปริมาณแอนติบอดีต่อไวรัสติดอยู่มากพอสมควร
จากข้อสังเกตอันนี้ทีมวิจัยตั้งสมมติฐานที่ไม่มีใครคิดถึงมาก่อนคือ ถ้าน้ำลายมีแอนติบอดีต้านไวรัสได้ แอนติบอดีนั้นก็น่าจะส่งผ่านหากันทางละอองฝอย หรือ อากาศ ได้เหมือนกับการแพร่กระจายของไวรัสได้เช่นเดียวกัน ทีมวิจัยเลยพยายามทดสอบสมมติฐานดังกล่าวโดยใช้น้ำลายเด็กที่ไม่เคยฉีดวัคซีน และ ไม่เคยติดโควิดเป็นเกณฑ์วัด โดยใช้ภูมิจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดเป็นตัวแปรสำคัญ สิ่งที่พบน่าสนใจมากครับ ครอบครัวที่พ่อแม่มีภูมิแอนติบอดีในน้ำลายสามารถตรวจพบในน้ำลายของลูกเช่นเดียวกัน ยิ่งพ่อแม่มีภูมิสูงโอกาสที่ลูกจะภูมิสูงไปด้วยเช่นกัน
การศึกษานี้ คงยังสรุปอะไรแบบจริงจังไม่ได้มาก เพราะคงต้องศึกษาโดยใช้ตัวอย่างประชากรที่มากขึ้น ลงรายละเอียดไปถึงกลไกที่ภูมิสามารถส่งต่อกันได้ ซึ่งอาจจะเป็นผ่านละอองฝอยน้ำลาย หรือ ทางอากาศเหมือนที่ทีมวิจัยคิดไว้ก็เป็นได้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แบบคิดไม่ถึงมาก่อนครับ