เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ พบผู้นำภาคเอกชนสหรัฐฯ เดินหน้าผลักดันความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน


13 พ.ค. 2565, 09:44



นายกฯ พบผู้นำภาคเอกชนสหรัฐฯ เดินหน้าผลักดันความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน




วันนี้ (12 พ.ค. 65) เวลา 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ณ โรงแรม Willard Inter Continental กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมผู้นำและผู้แทนชาติสมาชิกอาเซียนพบปะผู้นำภาคเอกชนสหรัฐอเมริกา โดยมี นางจีน่า เรมอนโด (Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา และนางแคทเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมด้วย โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของคำกล่าวนายกรัฐมนตรี ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มาพบหารือในวันนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีโอกาสพบปะและพูดคุยกับสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (USABC) ในหลายโอกาส พร้อมชื่นชมภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่สนับสนุน และมีส่วนร่วมที่แข็งขันในการการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน จึงทำให้ต้องกลับมาทบทวนเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยไทยให้ความสำคัญกับการสร้าง “พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต” เพื่อให้ภูมิภาคมีการเติบโตที่เข้มแข็งและยั่งยืนในยุค Next Normal ต่อไป ซึ่งประเด็นหลักที่อาเซียนกับสหรัฐฯ สามารถร่วมกันผลักดันมี 3 เรื่อง หรือ “3R” ได้แก่



“Reconnect” ส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมโยงนี้ ผ่านการลงทุนขยายฐานการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่อาเซียนมีศักยภาพและทรัพยากรรองรับ ซึ่งไทยมีพื้นที่ EEC ที่พร้อมเปิดโอกาส ให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ รวมถึงจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการเชื่อมโยงธุรกิจกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยสาขาอุตสาหกรรมที่สามารถร่วมมือกันได้ คือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และบริการทางการแพทย์ โลจิสติกส์อัจฉริยะ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
 
สำหรับสาขาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมกลางน้ำ และปลายน้ำที่แข็งแกร่ง และมีบริษัทเอกชนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนแล้วหลายราย จึงขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ พิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน อาทิ ต้นน้ำของเซมิคอนดัคเตอร์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีนโยบายมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิต EV ระดับโลก โดยการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิต EV และผู้พัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง อาทิ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านและสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ได้ด้วย
 
R ที่สอง คือ “Rebuild” ในยุค 4IR ควรมุ่งพัฒนาและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค ซึ่งมีศักยภาพในการขยายตัวได้ถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2030 พร้อมกล่าวเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในอาเซียน เช่น โครงข่ายอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีคลาวด์ในอุตสาหกรรมการผลิต ดาต้าเซ็นเตอร์ และการให้บริการคอนเทนท์ ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาและบ่มเพาะธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ ไทยมีไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเลย์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EECi ที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจดิจิทัล และขยายไปสู่ภูมิภาคได้


และสุดท้าย “Rebalance” เป้าหมายของทุกภาคส่วนในเวลานี้คือ การเร่งฟื้นฟูวิถีชีวิตของผู้คนและสังคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำมาโดยตลอดว่า หัวใจสำคัญ คือ การรักษา “สมดุล” ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ มีศักยภาพในการเข้ามาขยายการลงทุน และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในสาขาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำและพลังงานสะอาดในอาเซียนได้
 
สำหรับประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ จะมุ่งเน้นการสนับสนุนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในบริบทโลกหลังโควิด-19 ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุลแบบองค์รวมระหว่างทุกสรรพสิ่ง โดยมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดพื้นฐาน ภายใต้หัวข้อหลัก “OPEN. CONNECT. BALANCE.” ซึ่งไทยมุ่งผลักดันประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในเอเปค โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกภาคส่วน ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อภาคเอกชน ทั้งนี้ ไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า เพื่อขับเคลื่อนวาระนี้อย่างต่อเนื่องและให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
 
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีหวังว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ จะร่วมกันผลักดันประเด็นในข้างต้น โดยไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนพร้อมที่จะสนับสนุนการขยายโอกาสทางธุรกิจ และขจัดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเพื่อให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ได้รับความสะดวกและประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเศรษฐกิจของอาเซียนและสหรัฐฯ จะได้ก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.