เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ศาลสั่งหยุดสร้างถนน "บ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง" ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จนกว่าจะผ่านอีไอเอ


14 ก.ย. 2562, 15:21



ศาลสั่งหยุดสร้างถนน "บ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง" ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จนกว่าจะผ่านอีไอเอ




ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองเพชรบุรีได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ ส. 3/2562 ระหว่างนางสาวพีรยา สังวรณ์ กรรมการและเหรัญญิกกลุ่มคนรักป่าแก่งกระจาน เป็นผู้ฟ้องคดี กับผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 และผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดี เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

จากกรณีที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมถนน สายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่มีสภาพชำรุดเสียหาย ให้เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมรางระบายน้ำ ระยะทาง 18.50 กิโลเมตร  และมีการจัดจ้างในวงเงิน 79,790,000 บาท เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและประชาชนทั่วไป  โดยจะปิดเส้นทางเพื่อดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป เป็นเวลา 560 วัน

 

ต่อมานักอนุรักษ์ธรรมชาติและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมได้ร้องเรียนและคัดค้านโดยเห็นว่าเป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และไม่ได้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายกำหนด  จนนำมาต่อการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

 

ศาลปกครองเพชรบุรีเห็นว่าการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่ได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย  จึงเป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

พิพากษาห้ามผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการหรือดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนน สายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จนกว่าจะได้มการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม  และหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบต่อรายงานการประเมินผลกระทบดังกล่าวตามกฎหมายแล้ว

 

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์และสิ่งแวดล้อม(LEPA) กล่าวว่า สมาคมได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติในการฟ้องร้องศาลปกครอง  กรณีนี้ศาลปกครองระบุชัดว่า แม้จะก่อสร้างปรับปรุงในเส้นทางเดิม แต่ก็มีการขุดบุกเบิกพื้นที่ใหม่อยู่บ้างตามการก่อสร้าง  จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบตามที่กฎหมายกำหนด  และให้องค์กร บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบสามารถใช้สิทธิทางศาลปกครองได้ แม้ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการโดยตรง  รวมทั้งให้ทางรัฐต้องรับฟังเสียงของประชาชน ตลอดจนต้องให้ประชาชนเห็นชอบจึงจะดำเนินโครงการได้  เป็นการยืนยันการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม./


 



 


 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.