นายกฯ ขับเคลื่อนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม "บก-ราง-น้ำ" ก้าวหน้าเป็นรูปธรรม
22 พ.ค. 2565, 18:26
วันนี้ ( 22 พ.ค.65 ) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ขับเคลื่อนประเทศด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายและบริการด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโต กระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงและยั่งยืน
นายธนกรฯ กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เกิดการลงทุนจริงที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการลงทุนของภาครัฐ ในช่วงปี 2558 – 2562 ถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี เชื่อมโยงแต่ละภาคของประเทศ และเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน ทุกทิศทาง ได้แก่
-ทางถนน : ปี 2557 มี 4,271 กิโลเมตร ปี 2564 เพิ่มเป็น 11,583 กิโลเมตรมอเตอร์เวย์ : สร้างเพิ่ม 3 เส้นทางสำคัญบางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี และพัทยา-มาบตาพุด
-ทางราง : ปี 2557 ระยะทาง 4,073 กิโลเมตร ครอบคลุม 47 จังหวัด ส่วนใหญ่ เป็นทางเดี่ยว มีทางคู่-ทางสาม 357 กิโลเมตร ปัจจุบันมีแผนสร้างเพิ่ม ระยะเวลา 20 ปี จะมีระยะทาง 8,900 กิโลเมตร ครอบคลุม 62 จังหวัด เป็นทางคู่-ทางสาม 5,640 กิโลเมตร สถานีกลางบางซื่อ เป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ ทันสมัยที่สุด ในอาเซียน เชื่อมรถไฟทางไกล – รถไฟความเร็วสูง – รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ – รถไฟชานเมือง – สถานี บขส. และสนามบิน รถไฟฟ้า (กทม.และปริมณฑล) สร้างเพิ่ม 10 สาย ระยะทางรวม 204.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2 สาย นอกจากนี้ ยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
- ทางน้ำ รัฐบาลได้เพิ่มศักยภาพรองรับปริมาณการขนส่งทางน้ำ จากเดิมปี 2557 ประมาณ 279 ล้านตัน ปี 2564 เพิ่มเป็น 355 ล้านตัน โดยพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเดินเรือเฟอร์รี่ “พัทยา-หัวหิน” ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปีละ 4,000 ล้านบาท ส่วนทางอากาศ รัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงสนามบินทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร จากเดิมปี 57 รองรับ 118 ล้านคน / ปี 64 เพิ่มเป็น 139 ล้านคน
ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล นายธนกรฯ ย้ำว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่พร้อมเปิดประตูสู่โอกาส ในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล ทำให้การส่งผ่านข้อมูลรวดเร็วขึ้นมาก โดยในปี 2564 ความเร็วเฉลี่ยอินเตอร์เน็ตบ้านของไทย ที่ 308 ล้านบิทต่อวินาที (Mbps) ถือว่าแรงเป็นอันดับ 1 ของโลก