มรภ.ศรีสะเกษ จัดพิธีลงนามความร่วมมือการใช้ฐานข้อมูล Big Data ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ กับอบต. อ.เมืองศรีสะเกษ
31 พ.ค. 2565, 12:23
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องศรีลำดวน 1 โรงแรมศรีลำดวน อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการใช้ฐานข้อมูล Big ata ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ กับ อบต.อ.เมืองศรีสะเกษ ซึ่งคณะผู้วิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ ได้จัดพิธีในครั้งนี้ขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการการแก้ไขปัญหาความยากจน จ.ศรีสะเกษ เพื่อร่วมพัฒนาและร่วมใช้งานระบบฐานข้อมูล Big Data มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เพื่อร่วมจัดเก็บ บันทึกข้อมูล ส่งต่อความช่วยเหลือ กลุ่มคนจน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงและสามารถพึ่งพาตนเองได้และความร่วมมืออื่นๆ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบดำเนินการร่วมกัน โดยมี ผศ. ดร.สหัสา พลนิล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ ในนามคณะผู้วิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี รศ.ดร. ประกาศิต อานุภาพแสนยากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายก อบต.จำนวน 14 แห่งเขต อ.เมืองศรีสะเกษ มาร่วมพิธีและให้การต้อนรับ
ผศ. ดร.สหัสา พลนิล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ ในนามคณะผู้วิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ กล่าวว่า ตามที่ปีงบประมาณ 2563- 2565 มหาวิทยาลัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่อง "การวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กรณี จ.ศรีสะเกษ" จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และได้การสังเคราะห์ผลการดำเนินงาน นวัตกรรมแก้จน (OM) จังหวัดศรีสะเกษ ว่า WATTANA Model จากกระบวนการปฏิบัติงานจริง 6 ขั้นตอน และจากการศึกษาพบว่า อบต.เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ เป็นหน่วยงานใกล้ชิดกับพื้นที่ รับทราบปัญหา ความต้องการของชุมชน และการวางแผนปฏิบัติงาน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันเหตุการณ์ การมีสารสนเทศที่ถูกต้อง รวดเร็วและแม่นยำ เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของ อบต. นำไปสู่การปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสรุปข้อมูลด้านต่างๆ นำเสนอรายงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ผศ. ดร.สหัสา พลนิล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน และโดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงได้เล็งเห็นความสำคัญพัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของ อบต. ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผู้ด้อยโอกาสเพื่อขับเคลื่อนยุทธ์ศาสตร์จังหวัดไปสู่เป้าหมาย การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ รวม 15 หน่วยงาน ได้แก่ อบต.หมากเขียบ อบต.หนองครก อบต.หนองไฮ อบต.หนองไผ่ อบต. หนองแก้ว อบต.หญ้าปล้อง เทศบาลตำบลน้ำคำ อบต.ทุ่ม อบต.ตะดอบ อบต.ซำ อบต.จาน อบต.คูซอด อบต.โพนค้อ อบต.โพนข่า และ อบต.โพนเขวาโดยบันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ วันที่ 30 พ.ค.2565 สิ้นสุด วันที่ 30 พ.ค. 2568
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ข้อมูล Big Data เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการเมื่อเราจะทำงานในการแก้ไขปัญหาการพัฒนาอะไรต่างๆก็ตามแต่ ถ้าหากขาดข้อมูลที่แม่นยำถูกต้องสมบูรณ์ เราใช้คำว่าแม่นตรงการที่จะพัฒนาต่างๆให้ไปได้นั้นก็คงจะลำบาก ซึ่งหากมีการศึกษาหาเป้ารวมทั้งต้องหาข้อมูลต่างๆมาสังเคราะห์วิเคราะห์ต่างๆให้มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้นนี่คือการรวบรวมขณะเดียวกันอีกส่วนหนึ่งคือการนำข้อมูลที่เรียกว่าการคืนข้อมูลนี้ไปให้ยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ไขปัญหาได้ตามแต่ละท้องที่ก็จะยิ่งเกิดประโยชน์ เช่นกรณีวันนี้มีการทำงานขององค์กรในพื้นที่ในเขตอ.เมืองศรีสะเกษเพื่อนำร่องในการที่จะทำงานร่วมกันในการที่จะรับเอาข้อมูลเหล่านี้เพื่อจะได้นำเอาไปบริหารจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับพื้นที่ต่อไป ซึ่งแต่ละตำบลก็อาจจะมีอัตลักษณ์มีรูปแบบใหม่ที่มีความเหมือนและความต่างที่เป็นอยู่ ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการเป็นโมเดลที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จแม่นตรงของมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ รวมทั้งหน่วยที่บริหารจัดการในพื้นที่และ จ.ศรีสะเกษ ได้ขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่เป้าหมายร่วมกันอย่างเต็มที่ต่อไป