ผวจ.ศรีสะเกษ เปิดนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมแก้จนคนศรีสะเกษ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับตำบลในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจน
31 พ.ค. 2565, 12:23
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องศรีลำดวน 2 โรงแรมศรีลำดวน อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมแสดงผลงาน "นวัตกรรมแก้จน คนศรีสะเกษ" ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้จัดงานนี้ขึ้น ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงผลงานการวิจัย ผลงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย ออกสู่สาธารณะและแสดงศักยภาพการแก้ไขปัญหาความยากจนของพื้นที่ อ.เมืองศรีสะเกษ เพื่อนำเสนอ WATANA MODEL แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน จ.ศรีสะเกษ และเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับตำบล ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ มีการนำเอาผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านและผลงานของ ร.ร.ต่าง ๆ มาแสดงจำนวนมาก โดยมี รศ.ดร. ประกาศิต อานุภาพแสนยากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน มีคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้องมาให้การต้อนรับและร่วมพิธีในครั้งนี้
รศ.ดร. ประกาศิต อานุภาพแสนยากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ตระหนักถึงบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญคือการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธ์ศาสตร์จังหวัดศรีสะเกษ และวาระการขับเคลื่อนจังหวัดศรีสะเกษ บนเส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน (10 agenda) ในปีงบประมาณ 2563 – 2565 มหาวิทยาลัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่อง "การวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาระบบข้อมูล เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กรณีจังหวัดศรีสะเกษ" จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งการวิจัยครั้งนี้มีความสอดคล้องกับวาระจังหวัด ในด้านผู้ด้อยโอกาส ในปีงบประมาณ 2564 ปีที่ 2 ของการทำวิจัย มีพื้นที่เป้าหมายการวิจัย คือ อ.เมืองศรีสะเกษ ในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เป็นโมเดลแก้จน (OM) ได้มีการดำเนินการใน 4 โครงการ ได้แต่ 1.การปลูกและแปรรูปผักกะแยง ผักพื้นถิ่น มีกลิ่นเฉพาะตัว เป็นเครื่องปรุงอาหารอัตลักษณ์ของคนอีสาน 2. การเลี้ยงและการแปรรูปจิ้งหรีดผง สัตว์เศรษฐกิจ แหล่งโปรตีนที่สำคัญ เลี้ยงง่าย โตเร็ว 3. ผ้าทอศรีลำดวน : ทุนทางวัฒนธรรมบนความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนคนจน ลายดอกลำดวนดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ และ 4. แนวทางการจัดตั้งกองทุนน้ำยั่งยืน เพื่อสวัสดิการครัวเรือนคนจน ตำบลนำร่อง เพื่อยกระดับรายได้ของกลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้การดำเนินการวิจัยดังกล่าวได้บรรลุวัตถุประสงค์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ได้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้รับความร่วมมือจาก ทุกหน่วยงานในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชน สำนักงานสาธารณสุข สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานชลประธาน องค์การบริหารส่วนตำบล 18 พื้นที่ อ.เมือง ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกโครงการ