เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ แจงงบปี 66 มุ่งฟื้นฟูสถานการณ์โควิด-ขับเคลื่อนประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดปชช.


31 พ.ค. 2565, 14:22



นายกฯ แจงงบปี 66 มุ่งฟื้นฟูสถานการณ์โควิด-ขับเคลื่อนประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดปชช.




วันนี้ ( 31 พ.ค.65 ) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรถึงเป้าหมายและแนวทางร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีหลักการและเหตุผลตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,185,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,185,000,000,000 บาท เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติ  แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนย่อย (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายรัฐบาล ให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม  เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน  โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศและภายนอกประเทศ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วไปซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงาน ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจากการผ่อนคลายลงของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวภายใต้มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ได้แก่ ผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ การกลายพันธุ์และการระบาดของเชื้อไวรัส และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5  ทั้งนี้ภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกของปี 2565 และแนวโน้มปี 2565 อัตราการขยายตัวของ GDP ปี 2565 อยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 4.2 - 5.2  ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.2 – 4.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 – 1.5



นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คาดว่ารายได้จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มคลี่คลายโดยประมาณการว่าจะจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิจำนวน  2,614,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 124,100 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,490,000 ล้านบาท ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จึงเป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,490,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 695,000  ล้านบาท รวมเป็นรายรับ จำนวน 3,185,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย

นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงฐานะการคลังว่า รัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด  ส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 9,951,962.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 70

สำหรับฐานะและนโยบายการเงินนั้น รัฐบาลดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมายังคงผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มีความต่อเนื่อง  อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินกรอบเป้าหมายจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นมาก และจะปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นในปี 2565 รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่จะบรรเทาลง ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย และระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ขณะที่ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 22 เมษายน 2565 มีจำนวน 233,926.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3.15 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายการจัดทำงบประมาณร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายให้ประเทศได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพตลอดช่วงชีวิต มีหลักประกันและความคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส อาทิ ผู้สูงวัย ผู้พิการ และเด็ก ได้รับการดูแลและช่วยเหลือจากสวัสดิการภาครัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกระจายประโยชน์สู่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สามารถยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลุดพ้นจากปัญหาความยากจน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพื่อลดภาระทางการคลังและสนับสนุนให้เศรษฐกิจในภาพรวมมีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

สำหรับการจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยได้กำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่สำคัญ ดังนี้ (1) ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนย่อย (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) นโยบายของรัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาที่ต้องเร่งดำเนินการ  เพื่อให้บรรลุ 13 หมุดหมายตาม (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และโครงการสำคัญประจำปี 2566 ที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 406 โครงการ  ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ (2) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า โดยใช้งบประมาณของหน่วยรับงบประมาณทั้งในส่วนของแผนงานยุทธศาสตร์ แผนงานพื้นฐาน และแผนงานบูรณาการ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและความต้องการของประชาชนในพื้นที่  การจัดสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ตลอดจนมีการกระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม ไม่ซ้ำซ้อน และเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดต่อประชาชน  (3)  ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผล การใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (4) จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยรับงบประมาณเป็นลำดับแรก  รวมทั้งต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่นในการดำเนินโครงการลงทุน เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณ และทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และ (5) ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561  พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561  รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีวงเงินงบประมาณ จำนวน 3,185,000 ล้านบาท  จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,396,942.2 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 75.26  รายจ่ายลงทุน จำนวน 695,077.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.82  และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.14 ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7,019.6 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วย 1) งบประมาณรายจ่ายงบกลาง จำนวน 590,470.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.6 ของวงเงินงบประมาณ 2) งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 1,090,329.6 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 34.2 ของวงเงินงบประมาณ 3) งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 218,477.7 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 6.9 ของวงเงินงบประมาณ จำนวน 11 เรื่อง ได้แก่ (1) ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2) พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (3) ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (4) เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (5) บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (6) ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (7) พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (8) พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก (9) พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (10) รัฐบาลดิจิทัล และ (11) สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 4) งบประมาณรายจ่ายบุคลากร  จำนวน 772,119.1 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของวงเงินงบประมาณ 5) งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 206,985.6 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 6.5 ของวงเงินงบประมาณ และ 6) งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 306,618.0 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของวงเงินงบประมาณ

2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ โดยได้กำหนดไว้ จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ โดยได้นำยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมากำหนดเป็นกรอบโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้


ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน  296,003.6 ล้านบาท    เพื่อให้บ้านเมืองมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข ทุกภาคส่วนมีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงของประเทศ  และได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ  จำแนกตามแผนงาน ดังนี้  (1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ  (2) การรักษาความสงบภายในประเทศ (3) การพัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (4) การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  (5) การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด  (6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง (7) การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ (8) การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ (9) การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ (10) การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (11) การพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม  (12) การสนับสนุนด้านความมั่นคง และ (13) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ
             
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 396,125.5 ล้านบาท  เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ จำแนกตามแผนงาน ดังนี้ (1) การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (เช่น ทางถนน ทางราง ทางน้ำทางอากาศ) (2) การเกษตรสร้างมูลค่า (3)  การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  (4) การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ (5) การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว (6) การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (7) การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง แข่งขันได้ (8) การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (9) การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน (10) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (11) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (12) การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (13) การสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และ (14) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ
             
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 549,514.0 ล้านบาท  เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีความรู้ คุณธรรม จิตสาธารณะ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง  สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและทั่วถึง  รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น  พัฒนาศักยภาพทางการกีฬา และพัฒนาทักษะแรงงานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและวางรากฐานเศรษฐกิจในอนาคต จำแนกตามแผนงาน ดังนี้ (1)  การเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี (2)    การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต (3) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ (4) การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา (5) การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม (6) การสนับสนุนด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (7) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน  และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ  
            
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ จำนวน 759,861.3  ล้านบาท  เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม  สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำของสังคม  สร้างหลักประกันทางสังคมให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน  รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการสำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ และสนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย จำแนกตามแผนงาน ดังนี้ (1) การสร้างหลักประกันทางสังคม (2) การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา (3) การส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (4) การส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (5) การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก (6)มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม (7) การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ ประกอบไปด้วย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสภาพแวดล้อม และด้านสุขภาพ (8) การเสริมสร้างพลังทางสังคม (9) การสนับสนุนด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และ (10) การดำเนินภารกิจพื้นฐาน  และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ
          
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ จำนวน 122,964.9 ล้านบาท เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว และบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำแนกตามแผนงาน ดังนี้ (1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (2) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ (3) การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (4) การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม  (5) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล (6)         การยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (7) การสนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (8) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ
          
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 658,012.7 ล้านบาท เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม จำแนกตามแผนงาน ดังนี้ (1) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (2) รัฐบาลดิจิทัล (3) การพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ (4) การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (5) การสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ (6) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 402,518.0  ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ดังนี้ (1) รายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 95,900 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และ (2)  การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 306,618.0 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 206,618.0 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังและการเงินรวมทั้งการรักษาวินัยทางการคลัง






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.