เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ แจงงบฯบุคคลากรสัดส่วนสูงขึ้น ยันแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าสอดคล้องความต้องการ


1 มิ.ย. 2565, 16:14



นายกฯ แจงงบฯบุคคลากรสัดส่วนสูงขึ้น ยันแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าสอดคล้องความต้องการ




วันนี้ ( 1 มิ.ย.65 ) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (1 มิ.ย. 65) เวลา 10.50 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ถึงเรื่องของงบกลาง ที่สมาชิกฯ มีข้อกล่าวหาว่างบกลางมีเหลือเฟือ มากมาย นายกรัฐมนตรีมีไว้ใช้เอง ไว้เอื้อประโยชน์นั้น ว่า การพูดอย่างนี้เป็นการพูดแบบไม่มีหลักการ หลักการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินมีกฎหมายอยู่ทุกข้อ ทุกระเบียบต้องใช้เงินส่วนใด ยืนยันไม่เคยสั่งการให้ทำโครงการนี้ โครงการนั้น เพราะนายกรัฐมนตรีต้องกำหนดนโยบาย ติดตาม กำกับ ดูแล หาสิ่งใหม่ ๆ มาคิด นำวิสัยทัศน์มาพิจารณาว่าแบบนี้ทำได้หรือไม่ และมีการประชุมหารือกับคณะทำงานและหน่วยงานก่อนดำเนินการ เพื่อทำงานร่วมกันให้สำเร็จไปพร้อมกัน เกิดงบบูรณาการ งบจังหวัด กลุ่มจังหวัดเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส 

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปรับลดบุคลากรภาครัฐว่า ได้มีการชี้แจงเรื่องนี้ไปแล้ว ทั้งการพิจารณาจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือทดแทน การเตรียมระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้ก็เดินหน้าไปได้มากแล้ว ทั้งนี้ ขออย่าได้นำไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูงกว่าไทย เพราะบริบทไทยกับของต่างประเทศที่สมาชิกได้กล่าวถึงนั้นแตกต่างกันกับประเทศไทย แต่ยืนยันว่าต่อไปเราก็ต้องทำไปให้ถึงจุดนั้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงงบประมาณบุคลากรที่มีสัดส่วนสูงขึ้นนั้น ขอให้พิจารณาข้อเท็จจริงจะพบว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน เช่น เงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์ ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีจำนวน 277,305 อัตรา งบประมาณ 117,800 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการบริการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วย และบริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนงบประมาณบุคลากรด้านการศึกษา 519,272 อัตรา งบประมาณ 204,000 ล้านบาท ก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ และช่วยประเทศมีความพร้อมในการรับมือด้านต่าง ๆ 



ส่วนรายจ่ายประจำนอกเหนือจากรายจ่ายบุคลากรภาครัฐนั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่าส่วนมากเป็นการใช้จ่ายส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกัน มีความคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการดูแลกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงวัย ผู้พิการ และเด็ก ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บรรเทาปัญหาความยากจน พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องใช้เวลาและแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันระหว่างนั้นก็มีการช่วยให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้ ยืนยันงบประมาณเงินกู้ทั้งหมดเป็นการนำมาเพื่อดูแลและแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ของประเทศ ทั้งเรื่องของการรักษาพยาบาลประชาชน เรื่องโควิด-19 เรื่องการที่จะทำให้ประชาชนอยู่รอด ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่ม SMEs ต่าง ๆ ด้วย เพื่อไม่ให้มีการลดการจ้างงานและแรงงานได้รับการดูแลจากกองทุนประกันสังคม  

ขณะที่ส่วนงบกลางนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นการนำมาใช้ในหลายด้านที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเทศชาติ ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 การดูแลบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมไปถึงการดูแลกลุ่มผู้ประกอบการและธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถดำเนินเปิดกิจการต่อไปได้และมีแรงงานที่เพียงพอ เช่น การดำเนินการ Factory Sandbox ซึ่งก็ได้รับความชื่นชมจากหลายประเทศ ยืนยันว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ไทยได้ดำเนินการขณะนี้ล้วนได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศในหลายเรื่อง ทั้งนี้ แต่ละประเทศก็มีบริบทและกฎหมาย การปกครองที่แตกต่างกัน ซึ่งประเทศไทยก็มีของตนเองและหากปลดล็อกทุกอย่างได้เชื่อว่าหลายประเทศก็จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงงบประมาณส่วนท้องถิ่นว่า ดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และมีการจัดสรรเงินลงไปตามประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามสัดส่วนที่กำหนด สอดคล้องกับภารกิจที่มีอยู่ 6 ด้าน ซึ่งครอบคลุมในด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้าง ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เบี้ยยังชีพต่าง ๆ ทั้งเบี้ยยังชีพผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเอดส์ การจัดระบบสังคม รักษาความสงบเรียบร้อย ให้ความคุ้มครองผู้บริโภค การวางแผน การส่งเสริมการลงทุน พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนจังหวัด การบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาไฟป่า การจัดการขยะมูลฝอย รวมถึงด้านศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น บำรุงรักษาโบราณสถาน เป็นต้น ทั้งนี้ภารกิจถ่ายโอน สำนักงบประมาณก็จัดสรรงบประมาณรายการดังกล่าวให้กับท้องถิ่นโดยรวมอยู่ในสัดส่วนของ อปท. ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล โดยการเพิ่มสัดส่วนรายได้ของ อปท. ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่เหมาะสมแก่การพัฒนาให้ อปท. สามารถดำเนินกิจกรรมกิจการสาธารณะได้ด้วยตนเอง และให้เป็นไปตามภารกิจที่ถ่ายโอนให้แก่ อปท. เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ซึ่งก็ต้องขอบคุณที่ อปท. เข้าใจรัฐบาล


นายกรัฐมนตรีชี้แจงกรณีที่สมาชิกฯ กล่าวถึงเกี่ยวกับงบประมาณร้อยละ 40 เป็นรายจ่ายบุคลากรภาครัฐและอื่น ๆ รวมร้อยละ 70 ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำ เป็นค่าใช้จ่ายในอดีต แทนที่จะเป็นเรื่องของอนาคตทำให้เหลืองบประมาณตามโครงสร้างเพียงร้อยละ 30 เพื่อใช้พัฒนาประเทศไม่เพียงพอ จึงต้องหาเงินเพิ่ม โดยการหากิจกรรมต่าง ๆ ในการที่จะหาเงินเพิ่มเข้ามา เช่น การวิจัยและพัฒนา การลงทุน ซึ่งการที่สมาชิกฯ บอกว่ารัฐบาลต้องดำเนินการทั้งการดูแลประชาชนในด้านต่าง ๆ และต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศด้วยโดยไม่ต้องมีการกู้มากนักเงินนั้น ขอถามว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้หรือไม่ มีความย้อนแย้งกันหรือเปล่า พร้อมกล่าวถึงการวิจัยพัฒนาว่า รัฐบาลได้มีการสนับสนุนนำผลงานวิจัยต่าง ๆ กว่าร้อยผลงานให้มาสู่การปฏิบัติได้เป็นจำนวนมาก พร้อมขอให้สมาชิกได้มีการรับฟังการชี้แจงข้อมูลต่าง ๆ ของที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

นายกรัฐมนตรีชี้แจงกรณีที่ดิน สปก. โครงการการพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC ว่า สปก. ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 จำนวน 2,400 ล้านบาท เป็นงบประมาณของโครงการศูนย์ธุรกิจพัฒนาเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ 1,985 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาพื้นที่จำนวน 1,500 ล้านบาท โดยใช้ที่ดิน สปก. โดยข้อมูลสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ดินปนทราย ไม่อุ้มน้ำ ไม่สามารถสร้างมูลค่าได้สูง และเดิมเกษตรกร 350 ราย ปลูกยางพารา มันสำปะหลัง สับปะรด มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น เกษตรกรมีรายได้จากการประกอบอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร เช่น ค้าขาย พนักงานบริษัทเอกชน รับจ้างทั่วไป และการทำธุรกิจส่วนตัว ฉะนั้น การนำที่ดิน สปก. ที่ทำได้ตามกฎหมาย เพื่อนำมาพัฒนาเมืองจะเป็นการสร้างแรงงานใหม่สำหรับคนในพื้นที่และคนจากภายนอก 200,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2575 ซึ่งน่าจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า รวมทั้ง สปก. ได้สำรวจรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชน ชุมชนที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยเกษตรกรดังกล่าวเห็นด้วย ยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการ 

ทั้งนี้ สปก. จะต้องชดเชยสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินตาม พ.ร.บ. EEC ตามมาตรา 36 วรรค 4 แก่เกษตรกรที่ใช้ประโยชน์ที่ดินอยู่ก่อน นอกจากนี้ ให้สิทธิเกษตรกรเข้าร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะในอนาคต นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา กรณีวงเงินขาดไป สาเหตุมาจากการจัดสรรไม่มีปรากฏรายการในเอกสารงบประมาณในปี 2565 เนื่องจากมีการจัดสรรงบวงเงินแล้ว ต่อมากรมทางหลวงแจ้งว่า รายการดังกล่าวมีเงินกลางปี 2563 ได้พับตกจำนวน 141,365,348.26 บาท เป็นผลให้งบประมาณปี 2566 ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเงินพับตกดังกล่าว จำนวน 141,365,300 บาท ปัดเศษลง 48.26 บาท ซึ่งปรากฏในเอกสารงบประมาณ 2566 ดังนี้ ปี 2559 – 2563 ตั้งงบประมาณไว้ 1,621 ล้านกว่าบาท ในปี 2564 ตั้งไว้ 362 ล้านกว่าบาท ปี 2565 - 2566 ไม่ได้ตั้งงบ ส่วนในปี 2567 ผูกพันงบประมาณไว้แล้ว 141,365,300 บาท โดยปัดเศษออกไป 48.26 บาท ดังนั้นวงเงินรวมตามเอกสารปีงบประมาณ 2566 คือ 2,125,047,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริง






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.