เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ แจงใช้งบฯ ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาประเทศ -ระบบดิจิทัลเพื่อปชช.


2 มิ.ย. 2565, 19:05



นายกฯ แจงใช้งบฯ ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาประเทศ -ระบบดิจิทัลเพื่อปชช.




วันนี้ ( 2 มิ.ย.65 ) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าการพัฒนาเหล่านี้ ไม่ได้ใช้งบประมาณเพียงปีเดียว และก็ไม่ได้ใช้แหล่งเงินจากงบประมาณอย่างเดียว ใช้ทั้งเงินกู้ เงินร่วมลงทุนภาครัฐ - เอกชน เงินรายได้รัฐวิสาหกิจมาดำเนินการ และต้องใช้เวลาในการดำเนินการ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่พร้อมเปิดประตูสู่โอกาส ในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล ทำให้การส่งผ่านข้อมูลรวดเร็วขึ้นมาก นอกจากนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องเน็ตหมู่บ้าน 74,987 หมู่บ้าน รวมทั้งโครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำไทยที่รัฐบาลดำเนินอยู่ เพิ่มขึ้นอีก 2 ช่องทาง ซึ่งจะช่วยเสริมบทบาทของไทยให้เป็น “ศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน” อย่างที่ได้วางไว้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศเชื่อมต่อไปยังจีน อินเดีย และอาเซียน
 
อย่างไรก็ตาม การเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นวิกฤติโลกและเป็นมหาวิกฤติครั้งที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทย ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่มาก แต่รัฐบาลทำทุกวิถีทาง นโยบายต่าง ๆ ที่ออกมา ได้คำนึงถึงการสร้างความสมดุล ทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด รัฐบาลยอมเป็นนักกู้อย่างที่ท่านกล่าว แต่กู้มาเยียวยาช่วยเหลือประชาชน กว่า 40 ล้านราย ช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานต่าง ๆ ถ้าไม่นับเงินกู้โควิด 1.5 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลกู้มาเพื่อใช้ในงานด้านรักษา-วัคซีน-เยียวยาประชาชนแล้ว หนี้สาธารณะต่อ GDP ก็จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 52.84 แต่เมื่อรวมเงินกู้โควิดแล้ว หนี้สาธารณะต่อ GDP ก็ยังอยู่ที่ร้อยละ 60.58 ถึงแม้จะสูงขึ้น แต่ก็ทำเพื่อประชาชน และหลายประเทศก็ตัวเลขสูงกว่าไทยมาก และยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนของการคลังตามกฎหมาย ได้รับการจัดอันดับที่ดีจากสถาบันการเงิน การคลังระหว่างประเทศหลายแหล่ง ยังคงระดับความน่าเชื่อถือการเงินการคลังของประเทศไทย โดยในการใช้จ่ายก็ได้ทยอยใช้หนี้ไปตามระเบียบทุกประการ ทุกปี ซึ่งยังมีความเชื่อมั่นจากหลายประเทศในเรื่องเศรษฐกิจของเรา



ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลได้ส่งเสริมสังคมไร้เงินสด การพัฒนาแพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายและการพัฒนาต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จ ปฏิบัติการได้จริง เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการพร้อมเพย์ และ QR Payment เป็นการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเชื่อมโยงกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยไม่มีค่าธรรมเนียม แอปพลิเคชันถุงเงิน สำหรับ SME ขนาดเล็ก การใช้จ่ายเงินดิจิทัล ผู้เข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังกว่า 50 ล้านคน รวมถึงร้านค้าและ SME ที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน ในโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ชิม ช้อป ใช้ เหล่านี้เป็นต้น
 
สำหรับผลสัมฤทธิ์จากการจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกภาคส่วน นายกรัฐมนตรีไม่เคยอวดอ้างรัฐบาลพูดเสมอว่าเป็นความร่วมมือของคนไทยทุกภาคส่วน ต้องการการระดมแนวความคิด ช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ จึงต้องอาศัยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม. และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่เกี่ยวข้อง ทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร ได้ช่วยกันเต็มที่ ทำให้องค์กรต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์การอนามัยโลกได้ให้การยอมรับ และชื่นชมประเทศไทยให้เป็นประเทศที่รับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ซึ่งต้องขอบคุณคนไทยและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่สามารถทำให้ไทยได้รับคำชื่นชม ถือเป็นผลจากความร่วมมือกัน และ “ประเทศไทย” หมายถึง ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกัน ประชาชน รัฐบาล ทำให้ประเทศไทยยกระดับขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงได้เอง วิจัยได้หลายชนิดในประเทศ รวมทั้งสถานการณ์โควิดก็มีความก้าวหน้าตามลำดับ โดยยังส่งเสริมโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเปิดตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ ล่าสุดเป็นที่น่ายินดีที่ไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของ “ศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่” ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันในเวทีอาเซียนจนประสบความสำเร็จ
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่จะเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤตเท่ารัฐบาลนี้ ทั้งการได้รับผลกระทบของวิกฤตจากความขัดแย้งจากภายนอก หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 โดยโลกแบ่งเป็นสองขั้ว ส่งผลให้ทรัพยากรที่เคยสมดุลต้องขาดแคลน มีผลให้ราคาสินค้า ราคาพลังงาน และค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้ คือ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น วิกฤติพลังงาน สินค้าขาดแคลน ความยากจน เพื่อให้ประชาชนอยู่รอดอย่างพอเพียง รัฐบาลจึงได้เข้ามาดูแลประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนเท่าที่สามารถจะกระทำได้ด้วยมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น การช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตลอดจนการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม และอื่น ๆ อีกมาก


จากความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ เริ่มใช้นโยบายจำกัดการส่งออกในสินค้าประเภทอาหารและปัจจัยในการผลิต เช่น ข้าวสาลี และปุ๋ยเคมี เป็นต้น สินค้าดังกล่าวนั้นเป็นสินค้าที่ประเทศไทยต้องนำมาใช้ในการผลิตของภาคการเกษตร จากสถานการณ์ดังกล่าวแม้ว่าภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่สถานการณ์ของไทยยังดีกว่าในหลายประเทศ ไทยสามารถใช้ผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่นมาทดแทนได้ สามารถนำปลายข้าวมาใช้แทนข้าวสาลีสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ชั่วคราว และเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี รวมทั้งได้เจรจากับต่างประเทศและพันธมิตรของไทยเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศก็ได้เร่งเจรจากับประเทศผู้ผลิตปุ๋ยเคมีอื่น ๆ เพื่อนำปุ๋ยเคมีสำหรับใช้ในฤดูกาลเพาะปลูกที่เริ่มต้นแล้วในขณะนี้ รวมทั้งผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้สามารถนำเข้าสินค้าจำเป็นสำหรับการผลิตอาหารสัตว์จากประเทศอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยยังคงสามารถผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภคภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ และยังคงส่งออกสินค้าอาหารซึ่งมีความต้องการในตลาดโลกในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้รัฐบาลใช้เงิน และออกมาตรการมาแก้ไขปัญหา บรรเทาผลกระทบจากปัญหา ทั้งนี้ สส.หลายท่านบอกงบประมาณปี 2566 ไม่มีรายการที่แสดงให้เห็นการช่วยเหลือปัญหาเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังประสบอยู่เลย ซึ่งนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า งบประมาณปี 2566 กว่าจะประกาศใช้คือ เดือนตุลาคม 2565 ซึ่งรัฐบาลจะไม่รอจนงบประมาณปี 2566 ประกาศใช้ แล้วจึงมาแก้ปัญหาเพราะจะไม่ทัน
 
สำหรับเรื่องหนี้ครัวเรือน นายกรัฐมนตรีจะไม่รองบประมาณปี 2566 ประกาศใช้ จึงได้ประกาศให้ทุกหน่วยงานได้มีการปรับแผนและงบประมาณต่าง ๆ จากการที่ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจและสอบถามข้อเท็จจริง มีมาตรการที่จะสนับสนุนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำหรับหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รัฐบาลได้ปลดล็อคเงื่อนไขหลายประการ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและจะทำให้คนรุ่นหลังได้มีกองทุนนี้ใช้ต่อ รวมถึงแก้ไขกฎหมายกองทุน กยศ. โดยจะช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของนักเรียนได้เป็นจำนวนมาก ขณะนี้กฎหมายอยู่ที่สภาฯ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ จึงขอให้ช่วยเร่งดำเนินการให้กฎหมายผ่านได้โดยเร็วเพื่อช่วยเหลือนักเรียน
 
นอกจากการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแล้ว ความยากจนของแต่ละคน แต่ละบ้าน มีที่มาจากปัญหาที่แตกต่างกัน สิ่งที่รัฐบาลกำลังเริ่มทำอยู่ในตอนนี้ คือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว จะมีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันใน 5 มิติ พร้อมกัน ได้แก่ 1) มิติสุขภาพ 2) มิติความเป็นอยู่ 3) มิติการศึกษา 4) มิติด้านรายได้ 5) มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้ารายครอบครัว ทุกอย่างก็จะทยอยดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่ว่าคนจนจะหมดไปในปีนี้ หรือในทันทีได้ จำเป็นต้องอาศัยเวลาพอสมควร และอาศัยความร่วมมือระหว่างกัน
 
สำหรับประเด็นที่ต้องเป็นห่วงว่ามีเด็กนักเรียนยากจนที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต้องหลุดจากระบบการศึกษา นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า รัฐบาลเร่งรัดดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มดังกล่าวที่ยากจนพิเศษทั้ง 1.2 ล้านคน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้แล้วเกือบ 100% ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 รัฐบาลได้พัฒนาระบบสารสนเทศ สำหรับติดตามสถานะเด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิด ทั้งมิติสุขภาพ มิติพฤติกรรม มิติการเรียนรู้ ทุกอย่างจะถูกบันทึกเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้ทันทีเมื่อเกิดปัญหา นอกจากนั้น รัฐบาลยังสนับสนุนเพิ่มเติมเป็นคนละ 800 บาท ในช่วงโควิดนี้ แต่เพื่อให้มั่นใจว่าเด็ก ๆ จะไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา สำหรับนักเรียนกลุ่มรอยต่อการศึกษาคือ จากอนุบาล 3 ขึ้นป. 1 จาก ป.6 ขึ้น ม.1 จาก ม. 3 ขึ้น ม. 4 หรือเปลี่ยนไปเป็นอาชีวศึกษา และจาก ม.6 ขึ้นอุดมศึกษา รวมแล้วประมาณ 3 แสนคน
 
สำหรับที่ ส.ส. บางท่านเป็นห่วงว่า งบอุดหนุนการศึกษาลดลงนั้น น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง เพราะไม่ใช่เป็นการปรับลดงบประมาณ แต่เป็นการจัดสรรงบประมาณตามจำนวนนักเรียนซึ่งช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงตามอัตราการเกิดของประเทศไทย จากเดิม เคยเกิดเฉลี่ยอยู่ที่ปีละประมาณ 1 ล้านคน แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เกิดลดลง ล่าสุดเฉลี่ยประมาณ 680,000 คนต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่ 5.4 แสนคน เป็นปีแรกที่เด็กเกิดน้อยกว่าคนเสียชีวิต ซึ่งอัตราการเสียชีวิตปี 2564 มี  5.6 แสนคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอย้ำว่า รัฐบาลให้ความสูงสุดในการสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับ 15 ปี ตั้งแต่อนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รัฐบาลก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งค่าเรียนค่าอาหารกลางวัน นม ตลอดจนเบี้ยเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี เดือนละ 600 บาท สำหรับครอบครัวผู้มีรายได้น้อยเฉลี่ยไม่เกินแสนบาทต่อคนต่อปี ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีวิกฤตซ้อนวิกฤตหนักหนาสาหัส แต่ไม่ละเลยในการสร้างอนาคตของประเทศซึ่งจะเป็นฐานรายได้ให้แก่ประชาชนและฐานรายได้ภาษีเพิ่มเติมให้กับประเทศต่อไป






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.