"อนุทิน" ย้ำ 9 มิ.ย.ปลดล็อกกัญชาพ้นยาเสพติด ใช้ทางการแพทย์-เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ
5 มิ.ย. 2565, 18:12
วันนี้ ( 5 มิ.ย.65 ) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ทำให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้เน้นย้ำถึงนโยบายที่รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขผลักดันมาตลอดคือการนำกัญชา กัญชงมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ประชาชน โดยไม่มีการสนับสนุนให้ใช้กัญชา กัญชง ในทางที่ไม่เหมาะสม
ทั้งนี้ ระหว่างที่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ....ซึ่งจะเป็นกฎหมายกำหนดแนวปฏิบัติภายหลังกัญชากัญชงไม่เป็นยาเสพติดยังไม่มีผลบังคับ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ปรับใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติไม่ให้มีการใช้กัญชา กัญชงในทางที่อาจส่งผลกระทบต่อสาธารณะ อาทิ กระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศ เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. … เพื่อเป็นกฎหมายในการควบคุมการใช้กัญชากัญชงโดยไม่ก่อเหตุรำคาญรบกวนผู้อยู่ใกล้เคียงหรือในที่สาธารณะ ขณะที่กรมการขนส่งทางบกเตรียมออกประกาศข้อกำหนด ห้ามผู้ขับรถสาธารณะใช้กัญชา หากพบจะมีความผิดเช่นเดียวกันกับการเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ส่วนประชาชนทั่วไปที่ขับรถนั้น จะมีการออกกฎหมายหรือข้อกำหนดเพิ่มเติมต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ประชาชนทั่วไป เกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จะสามารถปลูกกัญชา กัญชง ได้เพียงการจดแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผ่านช่องทางที่สำนักงาน อย. พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก 2 ช่องทางด้วยกัน ได้แก่ เว็บไซต์ plookganja.fda.moph.go.th และแอพพลิเคชัน “ปลูกกัญ” โดยทั้ง 2 ช่องทาง กำหนดขั้นตอนการจดแจ้งเหมือนกัน คือมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การลงทะเบียน ให้ข้อมูลผู้ปลูก 2.จดแจ้งตามวัตถุประสงค์ ได้แก่ ปลูกเพื่อดูแลสุขภาพ ปลูกเพื่อใช้ดูแลรักษาผู้ป่วย ทางแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก หรือ ปลูกเพื่อการพาณิชย์ และ 3. รับเอกสารจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์ โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงาน อย. ที่สายด่วน 1556 กด 3
อย่างไรก็ตาม แม้ทุกส่วนของกัญชา กัญชงจะไม่เป็นยาเสพติดประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ในกรณีนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น หากผลิตเป็นอาหารต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 , ผลิตเป็นยาต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และเครื่องสำอางต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 เป็นต้น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ผลทางกฎหมายอีกประการสำคัญคือการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งพืชกัญชา กัญชง จะไม่มีความผิดอีกต่อไป ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไปผู้ที่เคยกระทำผิดเกี่ยวกับการนั้นจะพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งขณะนี้กรมราชทัณฑ์อยู่ระหว่างดำเนินขั้นตอนการปล่อยตัว-กำหนดโทษใหม่สำหรับผู้ต้องขังที่กระทำความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาทั่วประเทศจำนวน 4,103 คน แยกผู้อยู่ระหว่างพิจารณาคดี 884 คน และนักโทษเด็ดขาด 3,219 คน
“ระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย. นี้ เขตสุขภาพที่ 9 กระทรวงสาธารณสุข จะจัดงานมหกรรม 360 องศาปลดล็อกกัญชาแล้วประชาชนได้อะไร ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จ.บุรีรัมย์ เพื่อให้ความรู้ในมิติต่างๆ แก่ประชาชน เป็นงานใหญ่ครั้งแรกหลังปลดล็อกกัญชากัญชง ซึ่งจะมีการแจกต้นกล้ากัญชา 1,000 ต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกัญชา 1 ล้านต้นในงานนี้ด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว