เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เปิดคำวินิจฉัยศาลฎีกา ! พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คดีมหากาพย์ หวย 30 ล้านอลเวง ระหว่างครูปรีชา-หมวดจรูญ


8 มิ.ย. 2565, 08:21



เปิดคำวินิจฉัยศาลฎีกา ! พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คดีมหากาพย์ หวย 30 ล้านอลเวง ระหว่างครูปรีชา-หมวดจรูญ




วันที่ 7 มิ.ย.65 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า จากกรณี ร.ต.ท.จรูญ วิมูล หรือ หมวดจรูญ อดีตข้าชการตำรวจ สภ.บ่อพลอย อยู่บ้านเลขที่ 299/110 หมู่บ้านศิริชัยวังสารภี ซอย 5 หมู่ 8 ต.ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรีนำสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 งวดประจำวันที่ 1 พ.ย. 2560 หมายเลข 533726 จำนวน 5 ใบ มูลค่า 30 ล้านบาท ไปขึ้นเงินที่กองสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยนำเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาจังหวัดกาญจนบุรี หลังจากหักภาษีแล้วเหลือเงินเข้าบัญชี จำนวน 29,850,000 ล้านบาท

 อยู่ๆหมวดจรูญ ถูกนายปรีชา ใคร่ครวญ หรือครูปรีชา  อยู่บ้านเลขที่ 143/22 ทุ่งนา ซ.5 หมู่ 3 ต.ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทพมงคลรังษี ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีว่า ตนเป็นเจ้าของสลากฉบับดังกล่าวที่สั่งซื้อมาจากนางรัตนาพร หรือเจ๊บ้าบิ่น แล้วทำหล่นหายที่ตลาดเรดซิตี้เมื่อวันที่ 31 ต.ค.60

ซึ่งการต่อสู้คดีในชั้นศาลใช้เวลานานหลายปี กระทั่งวันที่ 20 ต.ค. 63 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้นัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่มีคำพิพากษายกฟ้อง หมวดจรูญ ในคดีอาญา โดยพิพากษาว่า "ไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย พิพากษายกฟ้อง"

แต่คดียังไม่จบแค่ชั้นศาลอุทธรณ์ เนื่องจากครูปรีชา พร้อมด้วยนายวรยุทธ บุญวงศ์ใส ทนายความส่วนตัว ได้เขียนคำร้องเพื่อยื่นต่อสู้คดีหลักในชั้นศาลฎีกา ที่ครูปรีชาฟ้องหมวดจรูญ ในข้อหาความผิด ยักยอกทรัพย์สินหายหรือรับของโจร และวันที่ 25 ก.พ.64 ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้พิจารณารับรองฎีกาและอนุญาตให้โจทก์ฎีกาได้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาส่งให้ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาพิพากษาตามรูปคดี

ต่อมาวันที่ 18 เม.ย.65 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้ส่งหมายนัดให้ครูปรีชา (โจทก์) และ ร.ต.ท.จรูญ วิมูล (จำเลย) ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ 1863/2561 คดีหมายเลขแดง ที่ อ 1416/2562 ในวันที่ 7 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น.

ล่าสุดวันนี้ 7 มิ.ย.65 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำที่ อ 1863/2561 คดีหมายเลขแดง ที่ อ 1416/2562 เรื่องยักยอกทรัพย์ รับของโจร ระหว่านายปรีชา ใคร่ครวญ หรือครูปรีชา อายุ 55 ปี(โจทก์) ร.ต.ท.จรูญ วิมูล หรือ หมวดจรูญ อายุ 67 ปี (จำเลย) โดยทั้งโจทก์และจำเลยต่างเดินทางมาฟังคำพิพากษาอย่างพร้อมเพรียง สำหรับประเด็นที่ศาลวินิจฉัยมีรายละเอียดดังนี้

“ศาลเห็นว่าแม้โจทก์มีพยานบุคคลหลายปากมาเบิกความยืนยันและสนับสนุนถึงเหตุการณ์ที่โจทก์ไปรับสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งที่ตลาดเรดซิตี้ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 สอดคล้องต้องกันก็ตาม แต่คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวขัดต่อสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์ที่ควรจะเป็นอย่างเห็นได้ชัดและเป็นพิรุธดังได้วินิจฉัยมา

ประกอบกับได้ความว่าโจทก์เดินทางไปตลาดเรดชิตี้และกระทำกิจกรรมลักษณะเดียวกันในตลาดบ่อยครั้งและพยานโจทก์ส่วนมากมาเบิกความต่อศาลหลังเกิดเหตุแล้วเป็นเวลานานอาจเป็นเหตุให้พยานโจทก์สับสนเกี่ยวกับวันที่พบเห็นพูดคุยกับโจทก์และจดจำเหตุการณ์คลาดเคลื่อนไปก็เป็นได้

นอกจากนี้ยังได้ความจากร้อยตำรวจเอกจิรยุทธ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พลตำรวจตรีสุทธิ พวงพิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี เรียกสำนวนการสอบสวนคดีเรื่องนี้ไปตรวจหลายครั้งและบอกร้อยตำรวจเอกจิรยุทธ์ว่า เกลาให้มันกลม เพื่อให้คำให้การของพยานบุคคลสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด

หลังจากนั้นโจทก์ นางสาวรัตนาพรและนางสาวพัชริดาก็มาขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำให้การอีกหลายครั้งเพื่อให้ข้อเท็จจริงสอดคล้องกัน นับเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้พยานบุคคลของโจทก์มาเบิกความในชั้นพิจารณาได้สอดคล้องต้องกัน พยานบุคคลของโจทก์จึงไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กับนางสาวรัตนาพรซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลทางแอปพลิเคซันไลน์

เมื่อนางสาวรัตนาพรได้กำหนด หมาย และทำการคัดเลือกสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่ง ซึ่งลงท้ายด้วยเลข 26 แยกมาจากสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับอื่นแล้ว เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460 สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ตามมาตรา 453 กรรมสิทธิ์ในสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งตกเป็นของโจทก์ตามมาตรา 458 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น

เห็นว่า สัญญาเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาทำคำเสนอและอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอถูกต้องตรงกัน  คำเสนอจึงต้องมีข้อความชัดเจนเพียงพอที่จะถือเป็นข้อผูกพันในสัญญาได้ สำหรับสลากกินแบ่งรัฐบาลมีหมายเลขหกหลักเป็นเกณฑ์ขี้ขาดในการถูกรางวัลสำคัญ และกรณีที่ขายสลากเป็นชุดประกอบด้วยหมายเลขหกหลักตรงกันหลายฉบับ มักจะขายเกินกว่าราคาที่ระบุไว้หน้าสลาก

ดังนั้น คำเสนอในการซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นชุดอย่างน้อยจะต้องปรากฎหมายเลขหกหลักและราคาที่จะซื้อขายอยู่ด้วย การที่โจทก์สั่งซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเลขท้าย 2 ตัว หมายเลข 26 จากนางสาวรัตนาพร เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2560 ตามสำเนาแอปพลิเคชั่นไลน์ ไม่มีรายละเอียดชัดเจนพอที่จะถือว่าเป็นคำเสนอได้ คงเป็นเพียงการแจ้งความประสงค์ของโจทก์ให้นางสาวรัตนาพรทราบว่า ต้องการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเลขท้าย 2 ตัว หมายเลข 26 เพื่อให้นางสาวรัตนาพรจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีหมายเลขดังกล่าวมาเสนอขายโจทก์เท่านั้น

การที่นางสาวรัตนาพรได้คัดเลือกสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่เลขท้าย 2 ตัว หมายเลข 26 แยกมาจากสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับอื่นเพื่อเตรียมไว้ขายให้โจทก์ จึงไม่ทำให้เกิดสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดดังกล่าวระหว่างโจทก์กับนางสาวรัตนาพร อันจะทำให้กรรมสิทธิ์ในสลากกินแบ่งรัฐบาลตกเป็นของโจทก์ดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีข้อพิรุธน่าสงสัย ทั้งยังขัดแย้งกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และไฟล์เสียงการสนทนาที่คัดลอกมาจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์กับบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์หลายประการดังที่ได้วินิจฉัยมา ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งจากนางสาวรัตนาพร

ดังนั้น สลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่จำเลยนำไปรับเงินรางวัลย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์ จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษา ยืน









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.