"เลิศ-พิลา รุ้งแก้ว" สวนป่าต้นมะเกลือแห่งแรกเมืองดอกลำดวน เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
16 มิ.ย. 2565, 08:26
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ร.ร.บ้านนิคม 2 ต.บ่อแก้ว อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว อดีตกรรมการสภาการศึกษา กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนและคณะไปเดินทางไปปลูกสวนป่าต้นมะเกลือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี “เลิศ - พิลา รุ้งแก้ว” ร่วมกับ ผอ.ร.ร. คณะครู และนักเรียน ร.ร.บ้านนิคม 2 หลังจากนั้น ตนได้เดินทางไปปลูกสวนป่าต้นมะเกลือที่วัดบ้านนิคม 2 ซึ่งอยู่ใกล้กับ ร.ร.บ้านนิคม 2 ซึ่งวัตถุประสงค์ในการปลูกสวนป่าต้นมะเกลือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2565 และเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่คุณพ่อเลิศ รุ้งแก้ว และคุณแม่พิลา รุ้งแก้ว โดยมี ท่านเจ้าอาวาสวัดบ้านนิคม 2 ไวยาวัจกร วัดบ้านนิคม 2 กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านนิคม 2 มาร่วมปลูกต้นมะเกลือจำนวนมาก
นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว อดีตกรรมการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า หลังจากปลูกต้นมะเกลือเสร็จทั้ง 2 แห่งแล้วตนได้ปลูกต้นไม้ในหัวใจนักเรียน ร.ร.บ้านนิคม 2 ด้วยการคุยกับนักเรียนเพื่อให้เห็นประโยชน์ของต้นไม้และขอให้นักเรียนดูแลต้นไม้ที่ปลูกให้โตทุกต้น ในการปลูกต้นไม้ครั้งนี้ท่าน ผอ.ร.ร.บ้านนิคม 2 ได้มอบหมายให้นักเรียนดูแลต้นไม้ทั้งที่ปลูกในวัดและในโรงเรียนคนละไม่เกิน 3 ต้น ก่อนวันสิ้นปีการศึกษาจะมีการมอบรางวัลแก่นักเรียนที่ดูแลต้นไม้ได้เจริญเติบโตดี มีรางวัลที่ 1 รางวัลที่ 2 รางวัลที่ 3 และรางวัลชมเชย ซึ่งในวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ตนจะไปร่วมปลูกสวนป่าต้นมะเกลือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี “เลิศ - พิลา รุ้งแก้ว” ที่ ร.ร.บ้านโพนยาง ต.โพนยาง อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ โดยยึดรูปแบบเดียวกันกับการปลูกที่โรงเรียนบ้านนิคม 2 สวนป่าต้นมะเกลือที่ตนและคณะได้ปลูกขึ้นมานี้ คาดว่าจะเป็นสวนป่าต้นมะเกลือแห่งแรกของ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งประโยชน์ของต้นมะเกลือ ผลดิบเป็นยาฆ่าพยาธิ ผลดิบใช้ทำสีดำย้อมผ้าไหม ผลสุกเป็นอาหารของคนและสัตว์ ต้นมะเกลือเป็นไม้เนื้อแข็งมีแก่นเป็นสีดำใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และสร้างบ้านได้ สำหรับต้นกล้าต้นมะเกลือที่นำมาปลูกตนได้เพาะเลี้ยงไว้ 2 ปี จึงได้นำมาปลูก โดยคาดหวังว่าทุกต้นที่ปลูกจะเจริญเติบโตเป็นสวนป่าให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการทำสีย้อมไหมเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ปีนี้ได้ตั้งเป้าจะปลูกให้ได้อย่างน้อย 1,000 ต้น