แจ้งความเอาผิด ! "เจ้าท่าภูมิภาคที่ 3" ปล่อยเทศบาล - อจน.ปล่อยน้ำเสียจากชุมชนไหลลงอ่าวประจวบฯ
21 มิ.ย. 2565, 08:14
กรณีมีการโพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ร้องเรียนสื่อมวลชน มีปัญหาซ้ำซาก ไม่เคยมีคำอธิบายจากหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากมีน้ำจากชุมชนไหลลงชายหาดอ่าวประจวบฯ กว่า 30 จุดในแหล่งท่องเที่ยวใจกลางเมืองที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะในจุดที่มีปลายท่อเยื้องโรงแรมหาดทอง ห่างจากร้านอาหารเพลินสมุทรไม่เกิน 100 เมตร ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ โดยน้ำจากชุมชนไม่ได้ไหลผ่านท่อ เพื่อผ่านระบบบำบัดน้ำเสียที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ใช้งบสร้าง 400 กว่าล้านบาท ด้านหลังวัดธรรมิการามฯ
วันที่ 20 มิถุนายน จ.อ.เสกสรรค์ จันทร คณะทำงานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทีมทนายความด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม นำเอกสารหลักฐานเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ให้ดำเนินคดีกับหัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 และพวก ฐานเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายมาตรา 157 ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 119 และมาตรา 119 ทวิ พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ มีการชดใช้ค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิด หลังจากได้ยื่นคำร้องให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่ารับทราบตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2556 และหลังจากนั้นจะยื่นร้องศาลปกครองเพื่อมีคำสั่งให้เทศบาลปิดท่อน้ำทิ้ง และเรียกค่าเสียหายที่มีผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม
จ.อ.เสกสรรค์ กล่าวว่า ล่าสุดได้ติดตามสอบถามความคืบหน้า เจ้าหน้าที่เจ้าท่าแจ้งว่าได้ไปตรวจสอบสถานที่ที่มีการปล่อยน้ำจากชุมชน พบว่ามีการปล่อยน้ำลงชายหาดจริง แต่ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์กับผู้ใดตามมาตรา 119 หรือมาตรา 119 ทวิ จากนั้นได้ทำหนังสือสอบถามไปที่เทศบาลเมืองประจวบและสำนักงานองค์การจัดการน้ำเสีย ( อจน.) ซึ่งเจ้าหน้าที่เจ้าท่าได้ชี้แจงเหตุผลจากเทศบาลเมืองแจ้งว่า หากมีการปิดช่องระบายน้ำหลายจุดที่ถนนเลียบชายหาดอ่าวประจวบฯตั้งแต่หน้ากองบิน 5 ถึง สะพานสราญวิถี อาจทำให้มีปัญหาน้ำท่วมเมือง นอกจากนั้นเทศบาลได้จัดงบ 17 ล้านบาท เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ต่อมาต้องยุติโครงการ เพราะต้องนำไปจ่ายใช้แก้ปัญหาโควิด 19
สำหรับการปล่อยน้ำจากชุมชนลงชายหาด เจ้าหน้าที่เจ้าท่าไม่ยอมรับว่าเป็นน้ำเสีย เนื่องจากยังไม่มีการนำไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ แต่ในมาตรา 119 ทวิ ระบุอำนาจหน้าที่ไว้ชัดเจน สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคต้องตรวจสอบการปล่อยน้ำจากชุมชนที่มีเศษขยะ สิ่งปฏิกูลลงบนชายหาด เดิมเจ้าหน้าที่เทศบาลจะอ้างว่ามีน้ำไหลจากท่อหลังมีฝนตกหนัก ไม่เกี่ยวกับระบบำบัดน้ำเสีย แต่จากการสำรวจพบว่ากรณีไม่มีฝนตกต่อเนื่องนาน 7 วัน ยังมีน้ำเสียไหลจากชุมชนลงหาดตามปกติ
สำหรับ มาตรา 119 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้หิน กรวด ทราย ดิน โคลน อับเฉา สิ่งของหรือสิ่งปฏิกูลใด ๆ ยกเว้นน้ำมันและเคมีภัณฑ์ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือทะเลภายในน่านน้ำไทย อันจะเป็นเหตุให้เกิดการตื้นเขิน ตกตะกอนหรือสกปรก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในการขจัดสิ่งเหล่านั้นด้วย
ส่วนมาตรา 119 ทวิ ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์หรือสิ่งใด ๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยอันอาจจะเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษหรือชดใช้ค่าเสียหายเหล่านั้นด้วย