หมอธีระ เตือน ! แมสก์ยังมีความสำคัญ ยกให้เป็นอวัยวะที่ 33 - ลดการติดโควิดซ้ำ
22 มิ.ย. 2565, 13:46
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า
“22 มิถุนายน 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 652,215 คน ตายเพิ่ม 1,048 คน รวมแล้วติดไป 545,539,140 คน เสียชีวิตรวม 6,342,957 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส บราซิล อิตาลี และไต้หวัน
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 77.49 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 60.01
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม การติดเชื้อซ้ำ จะมีโอกาสป่วยและตายมากขึ้น เป็นผลการวิจัยที่หมอและแวดวงวิชาการอยากรู้มานาน เพราะต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลและติดตาม Al-Aly Z และคณะจาก Washington University School of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาเรื่องผลของการติดเชื้อโรคโควิด-19 ซ้ำ
โดยเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่มีการติดเชื้อโรคโควิด-19 ซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป จำนวน 38,926 คน กับกลุ่มที่ติดเชื้อครั้งแรกจำนวน 257,427 คน และกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อเลยจำนวน 5,396,855 คน และประเมินดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากนั้น ว่ามีอัตราการเสียชีวิต การเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงอัตราการเกิดความผิดปกติของอวัยวะหรือระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น หัวใจและหลอดเลือด การแข็งตัวของเลือด ทางเดินอาหาร ไต เบาหวาน เหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย กระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และภาวะทางจิตเวช ซึ่งภาวะผิดปกติเหล่านี้จัดเป็นกลุ่มอาการที่เราทราบกันดีว่าคือ Long COVID หรือ Post acute COVID syndrome
ผลการศึกษาพบสาระสำคัญดังนี้
การติดเชื้อซ้ำจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ มากขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับการติดเชื้อครั้งเดียว
การติดเชื้อซ้ำจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับการติดเชื้อครั้งเดียว
การติดเชื้อซ้ำจะทำให้เกิดความผิดปกติในอวัยวะและระบบต่างๆ มากขึ้นราว 1.5-2.5 เท่า เมื่อเทียบกับการติดเชื้อครั้งเดียว
ความเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ ข้างต้น จะคงอยู่ตลอดช่วงเวลา 6 เดือนที่ติดตามประเมินผล ยิ่งติดเชื้อซ้ำมากขึ้น ความเสี่ยงจะมากขึ้นตามลำดับ และที่สำคัญมากคือ การติดเชื้อซ้ำทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนมากี่เข็ม หรือไม่ฉีดวัคซีนก็ตาม
ผลการศึกษานี้มีความสำคัญมาก เพราะชี้ให้เห็นว่า เราจำเป็นจะต้องหาทางป้องกันตัวให้ดี หากสถานการณ์ระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องและกระจายไปทั่ว คนที่ติดเชื้อมาก่อน ควรตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัว ไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ อย่าเหลิง อย่าลุ่มหลงมัวเมากับข่าวลวงว่าเคยติดเชื้อแล้วจะไม่ติดเชื้ออีก เพราะไม่เป็นความจริง ยิ่งในปัจจุบันไวรัส Omicron มีการกลายพันธุ์ไปหลากหลายและหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นกว่าเดิม การติดเชื้อซ้ำจะเกิดง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก
แม้มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ชี้ให้เห็นว่า Omicron นั้นติดเชื้อแล้วโอกาสเกิด Long COVID จะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าที่เคยระบาดเมื่อปีก่อนประมาณ 50-70% (หรือลดลงราว 2-3 เท่า) แต่อย่าลืมความจริงที่ว่า จำนวนคนที่ติดเชื้อ Omicron นั้นเยอะกว่าเดลต้าราว 3.5 เท่า
ดังนั้น จำนวนจริงของปัญหา Long COVID ที่จะเกิดขึ้นจาก Omicron จึงมีโอกาสสูงกว่าเดลต้า ยิ่งหากผนวกกับความรู้ที่เราทราบกันดีว่าการติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) ใน Omicron มากกว่าเดลต้าแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาได้มากขึ้นไปอีก ข่าวที่บอกว่า Omicron กระจอก ไม่ต้องกลัว Long COVID นั้น จึงไม่ควรหลงเชื่อ
สำหรับคนที่ยังอยู่รอดปลอดภัยมาจนซีซั่นนี้ได้ ขอให้มีกำลังใจ ดำเนินชีวิต ทำมาค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน อย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ การใส่หน้ากากสำคัญมาก ยังไม่ใช่เวลาถอดทิ้งครับ ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูง ควรใส่หน้ากากเสมอเวลาออกนอกบ้าน ให้คุ้นชิน เป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายเรา จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก