นายกฯ หารือทูตไซปรัสฯ ผลักดันการค้าการลงทุน ส่งเสริมศักยภาพในระดับภูมิภาค
22 มิ.ย. 2565, 15:20
วันนี้ (22 มิ.ย.65 ) เวลา 11.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอะยิส ลุยซู (H.E. Mr. Agis Loizou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐไซปรัสประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและยินดีที่ได้พบกันเป็นครั้งแรก โดยทราบว่าเอกอัครราชทูตไซปรัสฯ เดินทางมาประเทศไทยจากอินเดียเพื่อเข้าร่วมการประชุมมนตรีมูลนิธิเอเชีย – ยุโรป (Asia-Europe Foundation Board of Governors) ปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งปี 2565 นี้ ผู้แทนประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานของคณะมนตรีมูลนิธิเอเชีย–ยุโรป และเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งมูลนิธิเอเชีย-ยุโรปด้วย พร้อมชื่นชมเอกอัครราชทูตไซปรัสฯ ที่มีประสบการณ์ในเวทีองค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง และเป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้ไซปรัสเข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้ง โดยเน้นย้ำว่าไทยยินดีส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทย – ไซปรัสให้แน่นแฟ้นขึ้นในทุกด้าน ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมากว่า 4 ทศวรรษ โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุนเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศและต่อยอดไปยังภูมิภาค
เอกอัครราขทูตไซปรัสฯ ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เดินทางเยือนไทยในครั้งนี้ ชื่นชมไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเปรียบเสมือนบ้านอีกหลังหนึ่ง โดยไซปรัสจะผลักดันความร่วมมือกับไทยอย่างเต็มที่ ซึ่งเอกอัครราชทูตไซปรัสฯ พร้อมเป็นสื่อกลางในการรับข้อเสนอแนะและประสานงานร่วมกับรัฐบาลไทย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศที่ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือรอบด้าน โดยเอกอัครราชทูตไซปรัสฯ ชื่นชมการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลไทย ที่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และยินดีสนับสนุนไทยในเวทีโลกผ่านความร่วมมือในกรอบความตกลงต่าง ๆ ที่มี และพร้อมสานต่อความร่วมมืออื่น ๆ ที่เชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มเติมในอนาคต
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการค้าการลงทุน ไทยและไซปรัสเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันส่งเสริมและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด – 19 ในด้านที่ทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมและมีศักยภาพ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาพื้นที่ EEC ของไทย โดยเฉพาะด้านพลังงาน เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยสนใจลงทุนในต่างประเทศและในยุโรปมากขึ้นในสาขาบริการ ด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม ร้านอาหารไทย สปา และนวดแผนไทย ซึ่งไซปรัสสามารถใช้ประโยชน์จากไทยในการต่อยอดการลงทุนและเชื่อมโยงไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคได้ ด้านเอกอัครราชทูตไซปรัสฯ ยินดีส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว และพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ร่วมกัน โดยเฉพาะด้านพลังงานทดแทนที่ไซปรัสมีศักยภาพ เชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการหารือและพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตไซปรัสฯ ได้เสนอให้ทั้งสองประเทศจัดการประชุมด้านการลงทุน (Investment Summit) ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมนักลงทุนทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค
ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรียินดีส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ไปมาหาสู่ระหว่างกันได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยได้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศแล้ว เชื่อมั่นว่าในอนาคตนักท่องเที่ยวจากอียูและไซปรัสจะเดินทางมายังไทยเพิ่มมากขึ้น ด้านเอกอัครราชทูตไซปรัสฯ ยินดีสนับสนุนการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ โดยไทยถือเป็นประเทศท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอับดับต้น ๆ ของชาวต่างชาติ และพร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวร่วมกัน
ด้านความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี นายกรัฐมนตรีเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรผลักดันความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนการเยือนในอนาคตเพื่อสร้างความใกล้ชิด กระชับความสัมพันธ์ให้มากขึ้น ขณะที่ด้านความร่วมมือพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายยินดีที่กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย – อียู (Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ได้เจรจาและบรรลุข้อสรุป ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ควรมีการดำเนินการตามกระบวนการภายในให้ต่อเนื่อง ขณะที่เอกอัครราชทูตไซปรัสฯ ยินดีสนับสนุนการเจรจาในด้านต่าง ๆ ให้เป็นผลสำเร็จ ควบคู่กับการผลักดันกรอบความตกลงฯ ดังกล่าวด้วย โดยนายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณาเพิ่มช่องทางและโอกาสที่จะเกิดประโยชน์ร่วมกันเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและขยายผลในระดับภูมิภาค รวมทั้งยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-อียู ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งทั้งสองประเทศสามารถเป็นกำลังสำคัญในการเชื่อมโยงสองภูมิภาคให้เกิดความร่วมมือที่สร้างสรรค์ได้