เช็คเลย ! "สปสช." เปิดขั้นตอนบริการ "ผ้าอ้อมผู้ใหญ่-แผ่นรองซับ"
22 มิ.ย. 2565, 16:05
วันที่ 22 มิถุนายน 2565 นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงรายละเอียดการจัดสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่-แผ่นรองซับ ซึ่งเพิ่งผ่านการเห็นชอบให้เป็นสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเมื่อเร็วๆนี้ ว่า ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เป็นอุปกรณ์หนึ่งในการดูแลบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง/ป่วยติดเตียง ที่ผ่านมาแต่ละครอบครัวต้องจัดหาเอง แต่เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติให้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เป็นสิทธิประโยชน์ให้แก่คนไทยทุกคนทุกสิทธิแล้วซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวผู้ป่วยไปได้มาก
สำหรับหลักเกณฑ์การจัดสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่-แผ่นรองซับนั้น จะใช้กลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.) ซึ่งมีกว่า 7,740 แห่งทั่วประเทศในการดำเนินการ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้มีภาวะติดบ้านติดเตียงและมีค่า ADL เท่ากับหรือน้อยกว่า 6 และ 2.กลุ่มผู้มีมีภาวะกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยจะให้ไม่เกิน 3 ชิ้น/วัน/คน โดยในปีงบประมาณ 2565 จะเน้นใช้งบประมาณคงเหลือของแต่ละ กปท. ในการจัดหา คาดว่าจะใช้งบประมาณ 232.66 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณต่อๆไปจะเป็นการเสนอโครงการตามปกติ
สำหรับวิธีดำเนินการจัดสรรผ้าอ้อมผู้ใหญ่-แผ่นรองซับนั้น หน่วยบริการจะต้องทำเป็นโครงการเสนอขอรับงบประมาณจาก กปท. ของแต่ละพื้นที่ โดยหน่วยบริการในที่นี้หมายถึงหน่วยบริการสาธารณสุข ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต.หรือเทศบาล จะเป็นผู้เสนอโครงการ อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญจะอยู่ที่ Care Manager หรือผู้จัดการระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข ที่ต้องรวบรวมข้อมูลจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้ง 2 กลุ่ม คำนวณจำนวนผ้าอ้อมหรือแผ่นรองซับที่ต้องใช้ แล้วปรับแผนการดูแลรายบุคคล (Care Plan) โดยเพิ่มในส่วนของการจัดหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่-แผ่นรองซับเข้าไป จากนั้นเสนอโครงการให้คณะกรรมการ กปท. ของแต่ละพื้นที่พิจารณา เมื่อคณะกรรมการ กปท. อนุมัติแล้วก็สามารถจัดหาและกระจายผ้าอ้อมให้แก่กลุ่มเป้าหมายต่อไป
“ขณะนี้มีผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ลงทะเบียนในระบบของ สปสช.แล้วประมาณ 30,000 ราย ตั้งแต่วันนี้ถึง 23 มิ.ย. สปสช.เขตพื้นที่จะส่งข้อมูลนี้ไปยังแต่ละ กปท. แล้ว Care Manager จะรวบรวมข้อมูลทั้งผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว ตลอดจนผู้มีภาวะติดเตียงรายใหม่และผู้มีปัญหาด้านการขับถ่ายด้วย ในส่วนของรายใหม่นั้น หน่วยบริการสามารถค้นหาเพิ่มเติมในพื้นที่ หรือตัวผู้มีสิทธิเองสามารถมาแสดงตนได้ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็คือที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ถ้าเป็น กทม. ก็ไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านหรือแจ้งอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในชุมชน หรือถ้าไม่สะดวกไปก็โทรแจ้งที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้เช่นกัน แล้ว สปสช.จะส่งข้อมูลให้ในพื้นที่รับทราบ ตัว Care Manager จะต้องรวบรวมจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ปรับแผนการดูแลเพิ่มว่ามีกลุ่มเป้าหมายกี่คน ต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่หรือแผ่นรองซับกี่ชิ้น ต้องใช้กี่เดือน คำนวณด้วยราคากลางแล้วเสนอขอรับงบประมาณจาก กปท.ได้เลย” นพ.อภิชาติ กล่าว
นพ.อภิชาติ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของแผนงานที่วางไว้ คาดว่าตั้งแต่วันที่ 24-30 มิ.ย. Care Manager ในพื้นที่จะทำการปรับปรุง Care Plan แล้วระหว่างวันที่ 1-15 ก.ค. หน่วยบริการจะสามารถเสนอโครงการจัดหาผ้าอ้อมให้คณะกรรมการ กปท. ในพื้นที่พิจารณา และคณะกรรมการ กปท. อนุมัติโครงการแล้ว ตั้งแต่ 18-30 ก.ค. คาดว่าหน่วยบริการจะจัดบริการผ้าอ้อมให้กลุ่มเป้าหมายได้ โดยขณะนี้ สปสช.ได้เชิญบริษัทผู้ขายมาเสนอราคาแล้วจำนวน 5 บริษัท บริษัก ก. เสนอราคา 9.45 บาท บริษัท ข. เสนอราคา 12.34 บาท บริษัท ค. เสนอ 9.60 บาท บริษัท ง. เสนอราคา 10.7 บาท และบริษัท จ. เสนอราคา 11.235 บาท
ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ตำบลที่ไม่มีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นซึ่งมี 31 แห่งทั่วประเทศนั้น สปสช.จะเร่งออกประกาศอีกฉบับ เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพของจังหวัดนั้นๆ สามารถจัดสรรงบประมาณจัดหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่-แผ่นรองซับแก่ผู้ป่วยในพื้นที่ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ใช้งบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ สิทธิประโยชน์นี้จะให้ได้เฉพาะผู้ใช้สิทธิบัตรทองเท่านั้น