"จังหวัดจันทบุรี" สั่งเฝ้าระวังพื้นที่ 3 ตำบล 2 อำเภอ เสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก หลังกรมอุตุ เผย! มีฝนตกหนักซ้ำ
17 ก.ย. 2562, 11:35
วันที่ 17 กันยายน 2562 เวลา 09.00 น.ผู้สื่อข่าว ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้สั่งการให้ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำฝนอย่างใกล้ชิด หลังกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกมาประกาศเตือนว่าในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ยังคงจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ 3 ตำบล 2 อำเภอ คือ ตำบลเกวียนหัก ตำบลตะปอน อำเภอขลุง และตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ที่อาจะจะเกิดน้ำป่าจากเทือกเขาสระบาปไหลหลากลงมาท่วมถนน สวนผลไม้ และบ้านเรือนประชาชน ได้อีก ในเบื้องต้นทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนใน 3 ตำบล ได้เฝ้าระวัง และติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด หากเกิดฝนตกหนักก็ขอให้ประชาชนรีบเก็บข้าวของ และเครื่องมือทางการเกษตร ไว้ในสูงเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี ได้มีการเตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ชุดเคลื่อนที่เร็ว และอุปกรณ์เครื่องมือไว้พร้อม หากได้รับการร้องขอจากประชาชน หรือหน่วยงานก็จะได้เข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ส่วนปริมาณน้ำใน 4 จุดหลัก ประกอบด้วย แม่น้ำจันทบุรี ระดับน้ำอยู่ที่ 1.32 เมตร จุดวิกฤตอยู่ที่ 3.45 เมตร ฝายยาง อำเภอเมือง ระดับน้ำอยู่ที่ 2.80 เมตร จุดวิกฤตอยู่ที่ 5.50 เมตร ฝายท่าระม้า อำเภอมะขาม ระดับน้ำอยู่ที่ 4.65 เมตร จุดวิกฤตอยู่ที่ 8.00 เมตร และสะพานกะทิงระดับน้ำอยู่ที่ 3.30 เมตร จุดวิกฤตอยู่ที่ 7.00 เมตร ทั้งนี้สถานการณ์น้ำใน 4 จุด หลัก ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากทางชลประทานจังหวัดจันทบุรี ได้มีการเปิดประตูระบายน้ำ บริเวณคลองภักดีรำไพ และประตูระบายน้ำเขื่อนโขมง เพื่อเร่งพร่องน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลให้มากที่สุด เพื่อป้องกันเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ชั้นใน
นายอวิรุทธ์ วรกิตติ์ไพศาล หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ทางกรมอุตุนิยมวิทยาจังหวัดจันทบุรี ได้เตือนว่าในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ยังจะคงมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง คือ 3 ตำบล 2 อำเภอ ที่เคยเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมถนน สวนผลไม้ และบ้านเรือนเมื่อครั้งที่ผ่านมา ในส่วนนี้ได้สั่งการให้ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิดแล้ว พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือ กำลังเจ้าหน้าที่ให้พร้อม หากสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจก็ขอให้มีการอพยพประชาชนออกมาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยเป็นการช่วยคราว รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่องแล้ว