นายกฯ เปิดงาน FTI EXPO 2022 กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งภาคอุตสาหกรรม
29 มิ.ย. 2565, 15:21
วันนี้ ( 29 มิ.ย.65 ) เวลา 11.40 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด FTI EXPO 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES FOR STRONGER THAILAND พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ฉากทัศน์ใหม่อุตสาหกรรมไทยเพื่อความยั่งยืน” จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการทำงานร่วมกัน สร้างการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นการระดมองค์กรชั้นนำของประเทศ ภาครัฐและสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ ครอบคุลม 11 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือ รวมกว่า 400 ราย ร่วมจัดแสดงสินค้า การประชุมสัมมนา การเจรจาธุรกิจ พร้อมนำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นภาคเศรษฐกิจและภาคประชาชน ให้ประเทศขับเคลื่อนไปได้อย่างเข้มแข็ง ตั้งเป้ามียอดใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในงานไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังถูกหยิบยกเป็นวาระสำคัญของหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายดังกล่าว เพื่อปรับตัวให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง ภายใต้บริบทของ โลกใหม่ใบเดิมนี้ โดยนายกรัฐมนตรีขอเปรียบเทียบประเทศไทย เสมือนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนเดินต่อไปข้างหน้าบนเวทีโลกโดยกำหนดแนวทางในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้สามารถพลิกโฉมตัวเองไปสู่การเปลี่ยนแปลง ช่วงแรก คือ รีสตาร์ทเครื่องยนต์ เพื่อรีสตาร์ทประเทศไทยให้ฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด (Restart) เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลกระทบของวิกฤติโควิด 19 นับตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยต้องหยุดชะงัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์และการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ประกอบกับภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของอุปสงค์ทั่วโลก และยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดของปัญหาห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลก ทำให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบ และผลกระทบซ้ำเติมภายใต้ “วิกฤติซ้อนวิกฤต” จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก และส่งผลต่อเนื่องให้อัตราเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น โดยรัฐบาลมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในทุกภาคส่วน การ Restart Thailand ให้กลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะประสบผลสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแนวทางการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด ซึ่งรัฐบาลได้พยายามดำเนินมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบและเร่งฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวโดยเร็ว ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการเปิดประเทศ เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงในปัจจุบัน รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทาง และเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าทั้งปี 2565 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวนประมาณ 7-10 ล้านคน รัฐบาลได้เตรียมขับเคลื่อนมาตรการในระยะต่อไป เพื่อวางรากฐานให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพและให้มีความยั่งยืนมากขึ้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปถึงช่วงของการเร่งเครื่องยนต์ Speed up ว่า จะต้องรีบดำเนินการภายใต้แนวทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวนำในการยกระดับประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งด้านเกษตร อาหาร การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยว และยานยนต์ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยา และเศรษฐกิจฐานดิจิทัล โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถปรับตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งการยกระดับศักยภาพของธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และ Startup ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างเพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมทางด้านปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ นั่นคือการพัฒนาและปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานด้านต่าง ๆ ของประเทศให้พร้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการค้า การลงทุน มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนของภาครัฐ การบริหารจัดการข้อมูลด้านองค์ความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศและยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
นอกจากนี้ รัฐบาลพร้อมผลักดัน Soft Power ของไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าคนไทยมีฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ระดับโลก โดยรัฐบาลได้เร่งเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขาที่สาคัญ ขณะเดียวกันก็ผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ที่มีอยู่เดิม ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญ ที่จะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังยุคโควิด 19
นอกเหนือจากการจะทำให้สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้แล้ว ยังมีสิ่งสำคัญที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเดินหน้าประเทศไทยไปสู่เวทีโลกในอนาคต คือการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ ซึ่งการพัฒนาประเทศให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ ยังคงมีข้อจำกัดภายในจำนวนมากที่ต้องก้าวข้าม อีกทั้งยังต้องเตรียมพร้อมประเทศให้สามารถรับมือและแสวงหาโอกาส จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อผลักดันให้การพัฒนาประเทศก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
เรามองเปรียบเทียบประเทศไทยเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง รถยนต์ที่พาคน 70 ล้านคนไปข้างหน้า จะรถอะไรก็ไม่รู้ล่ะ เป็นรถคันใหญ่ๆ คันหนึ่ง ที่เราจะต้องขับเคลื่อนคนทุกคนในประเทศไทย ทั้งคนต่างประเทศและคนไทยด้วย ในการที่จะขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าบนเวทีโลก เพราะต้องกำหนดแนวทางในแต่ละช่วงเวลา ให้รถยนต์คันนี้สามารถเดินหน้าไปให้ได้ ไม่หยุด เครื่องยนต์ไม่ติดขัด มีพลังงานที่เพียงพอประชาชนที่อยู่บนรถนั้น มีความสะดวกสบายในการเดินทางคงไม่ใช่ง่ายๆ เพราะมันเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องยนต์ เทคโนโลยี เกี่ยวกับพลังงานเกี่ยวกับคนในรถด้วย ซึ่งมีความหลากหลาย ต่างอาชีพต่างวัยต่างขีดความสามารถ ทำอย่างไรรถคันนี้จึงจะวิ่งได้เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่เราทำได้ในวันนี้คือเตรียมรถให้ดี และหาคนขึ้นรถให้ได้ เพราะฉะนั้นคนขึ้นรถล๊อตแรกก็คือพวกเรานี่แหละเพื่อจะดูว่ารถคันนี้จะไปข้างหน้าไหวไหมจะมีปัญหาตรงไหนไหม เป็นขั้นการทดลองรถตรงนี้คันนี้แล้วพร้อมเมื่อไหร่เอาคนขึ้นมาหรือทยอยเอาคนขึ้นมา แล้วเอาคนที่ขึ้นรถคันนี้ไปขึ้นรถคันอื่นแล้วสร้างรถหลายๆ คันออกมา
“การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการจับมือพันธมิตรระหว่างองค์กรชั้นนำและได้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ตนหวังว่ารถยนต์คันนี้จะวิ่งไปข้างหน้าโดยไม่ถอยหลัง หรือ อยู่กับที่ ถ้ามันหยุดคนบนรถต้องมาช่วยกันเข็นให้ไปให้ไป ต้องร่วมมือกัน ฉะนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารถยนต์ประเทศไทยคันนี้จะกลายเป็นยานยนต์แห่งอนาคต ที่จะพาคนไทยทุกคนเดินทางไปสู่เป้าหมายปลายทางที่มีความสุข สำเร็จ ด้วยความสามัคคีของคนไทยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ตนไม่ได้ต้องการทะเลาะกับใคร ตนทำให้ทุกคนทุกจังหวัด ไม่ว่าจะรักตนหรือไม่รัก แต่ตนต้องทำให้ทุกคนเพราะเป็นหน้าที่ เลิกทะเลาะกันสักทีไม่เกิดอะไรดีขึ้น สิ่งที่สำมาจะสูญเปล่าไปเฉยๆ เราต้องการเห็นบ้านเมืองก้าวหน้าประชาชนอยู่ดีกินดี มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เราต้องจับมือเดินหน้าไปด้วยกัน ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือร่วมใจพาประเทศชาติของเราให้ก้าวพ้นอันตราย วิกฤตต่างๆ ไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน หวังว่าความร่วมมือระหว่างรัฐ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่อนาคตที่แข็งแกร่งกว่าเดิม สัญญา"
นายกฯ ยังกล่าวปิดท้ายว่า "ต้องนั่งรถคันเดียวกันไป จะเป็นจะตายต้องช่วยกันเข็น เข็นให้มันวิ่งดีกว่าเครื่องยนต์ด้วยซ้ำถ้าช่วยกันเยอะๆ นั่นแหละคือความเป็นหนึ่งเดียว คืออนาคตของประเทศไทย ใครจะนำว่าไป แต่สิ่งเหล่านี้ต้องต่อเนื่อง ตนพูดด้วยหัวใจ เพื่อแผ่นดินนี้"