"หมอธีระ" ชี้! ติดเชื้อโควิด-19 แยกตัว 5 วันไม่พอ ผลวิจัยระบุ Long Covid ทำหลอดเลือดสมองอักเสบ
6 ก.ค. 2565, 15:20
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 740,091 คน ตายเพิ่ม 1,121 คน รวมแล้วติดไป 556,088,469 คน เสียชีวิตรวม 6,363,781 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี บราซิล ออสเตรเลีย และไต้หวัน
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 77.85 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 45.31
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
อัพเดตความรู้เกี่ยวกับ Long COVID
การติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง
ล่าสุดงานวิจัยจาก US NIH ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้านระบบประสาท Brain และเผยแพร่สรุปผลการศึกษาในเว็บไซต์ของ National Institute of Neurological Disorders and Stroke เมื่อ 7 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
โดยทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 9 คน อายุตั้งแต่ 24-73 ปี พบว่า หลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 พบว่าระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ โดยทำให้เกิดการทำลายผนังหลอดเลือดในสมอง นำไปสู่โอกาสอุดตัน และกระบวนการอักเสบต่างๆ ของหลอดเลือดในสมองได้
กลไกความผิดปกติดังกล่าว จึงอาจเป็นหนึ่งในคำอธิบายการเกิดภาวะ Long COVID ในผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติทางสมองหรือระบบประสาทได้
ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมจะดีที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา Long COVID ในระยะยาว
วิธีปฏิบัติตัวในสถานการณ์ระบาดของไทย
1. ใส่หน้ากากเสมอ เวลาออกตะลอนนอกบ้าน
2. เลี่ยงการเข้าร่วมงาน/กิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก หากจำเป็นต้องไป หรือทนไม่ไหวอยากไปจริงๆ ก็ป้องกันตัวให้ดี ไม่ถอดหน้ากากระหว่างงาน แยกตัวไปกินดื่มห่างจากคนอื่น ระหว่างพูดคุยควรใส่หน้ากาก
3. เชียร์กีฬา ร้องเพลง โดดเล่นเต้นระบำ ควรใส่หน้ากาก และไม่ควรตะโกน เพราะจะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อกันมากขึ้น
4. ออกกำลังกาย แบบเดี่ยวจะดีกว่ากลุ่ม กลางแจ้งจะดีกว่าอินดอร์ หากจะไปฟิตเนส ใส่หน้ากากจะดีกว่า และใช้เวลาสั้นๆ
5. ไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ท้องเสีย ให้นึกถึงโควิด-19 ด้วยเสมอในยามนี้ ตรวจ ATK ด้วยตนเอง
หากได้ผลบวก แยกตัวจากคนอื่นอย่างน้อย 10-14 วัน (ถ้าบางอาชีพต้องกลับไปทำงานก่อนเวลาที่บอกไว้ ก็ควรใส่หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่า และระมัดระวังป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดมากๆ จนครบ 14 วัน)
แต่หากมีอาการป่วย แต่ตรวจได้ผลลบ อย่าวางใจ เพราะมีโอกาสผลลบปลอมสูง อาการป่วยจะเชื่อได้มากกว่า ดังนั้นจึงควรตรวจ ATK ซ้ำเป็นระยะตลอดช่วงอาการป่วย หรือไปตรวจ RT-PCR ถ้าสงสัยและมีประวัติเสี่ยงชัดเจน
ย้ำอีกครั้งว่า ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบัน หากติดเชื้อแล้วแยกตัว 5 วันไม่เพียงพอครับ
ใครจะว่าเอาอยู่ เพียงพอ เวฟเล็กๆๆๆๆๆๆๆ ก็ว่ากันไป
คนหน้างาน และประชาชนในสังคมย่อมประเมินสถานการณ์รอบตัวด้วยตา และด้วยประสบการณ์ตรงของตนได้ว่าเป็นอย่างไร
จากที่เห็น จากที่คลุกคลี บอกได้ว่า ไม่ใช่
การหนีความจริงนั้นยากนะครับ
สุดท้ายแล้วที่ยากที่สุดคือ การมองหน้า สบตากับทุกคนได้อย่างสนิทใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าและสายตาของตนเองในกระจกที่ส่องทุกเช้าค่ำ และสมาชิกในครอบครัว…
อ้างอิง
Lee M-H, et al. Neurovascular injury with complement activation and inflammation in COVID-19. Brain. 2022.