WHO เตือน ! การระบาดของ "โควิด-19" ยังไม่ใกล้จบ 2 สัปดาห์ป่วยพุ่ง 30%
13 ก.ค. 2565, 14:01
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้แสดงให้เห็นว่า การแพร่ระบาดใหญ่ไม่ได้ใกล้จะจบลงแต่อย่างใด พร้อมเตือนว่าขณะนี้ไวรัสกำลังแพร่ระบาดไปได้โดยปราศจากการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูล
เทดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก แสดงความกังวลถึงจำนวนผู้ป่วยว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลให้ระบบสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประสบภาวะตึงมือมากยิ่งขึ้น
“การแพร่ระบาดระลอกใหม่แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าโควิด-19 ยังห่างไกลจากคำว่าจบ ในขณะที่ไวรัสกำลังรุกคืบเข้ามาอีกครั้ง เราต้องผลักมันกลับไป” กีบรีเยซุสกล่าว และว่า ขณะนี้ตัวแปรย่อยของโอมิครอนอย่าง บีเอ.4 และบีเอ.5 เป็นตัวการหลักให้ผู้ป่วยทั่วโลกต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิต
ทั้งนี้ จากตัวเลขที่มีการรายงานเข้ามายังองค์การอนามัยโลกพบว่า จำนวนผู้ติดโควิด-19 เพิ่มขึ้น 30% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากตัวแปรย่อยของโอมิครอน รวมกับการที่หลายประเทศพากันยกเลิกมาตรการควบคุม
กีบรีเยซุสกล่าวว่า เมื่อการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะต้องกลับมาใช้มาตรการตรวจสอบและป้องกันอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยและการพัฒนาระบบระบายอากาศให้ดีขึ้น
ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การเฝ้าระวัง รวมถึงการทดสอบและติดตามผลที่ลดลงอย่างมาก ทำให้การประเมินผลกระทบของสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ต่อการแพร่ระบาด ลักษณะของโรค และประสิทธิภาพของมาตรการรับมือทำได้ยากขึ้น ขณะที่การตรวจหาเชื้อ การรักษา และการฉีดวัคซีน ก็ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
“ไวรัสกำลังแพร่ไปได้โดยอิสระ ประเทศต่างๆ ไม่ได้มีการจัดการกับภาระที่เกิดจากโรคอย่างมีประสิทธิภาพตามความสามารถของพวกเขา” กีบรีเยซุสกล่าว
ด้านนายไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการด้านสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการทดสอบหาเชื้อ กำลังเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการตรวจหาผู้ป่วย รวมถึงติดตามพัฒนาการของไวรัส
คณะกรรมการฉุกเฉินด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ได้ประชุมกันล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ถือเป็นข้อห่วงกังวลระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนในระดับสูงสุดขององค์การอนามัยโลก
คณะกรรมการยังย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการลดการแพร่กระจายของเชื้อ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และว่าวิวัฒนาการของไวรัสและลักษณะของสายพันธุ์ใหม่ๆ ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้ ขณะที่การไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะลดการแพร่เชื้อ จะยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิดไวรัสโควิดกลายพันธุ์ใหม่ที่มีความแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแง่ของความสามารถในการทำให้ติดโรค การแพร่เชื้อ และการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน