เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เผย EEC มาแรง ไม่ถึงครึ่งปีดึงเงินลงทุนเกือบ 3 แสนล้านบาท


20 ก.ค. 2565, 15:21



เผย EEC มาแรง ไม่ถึงครึ่งปีดึงเงินลงทุนเกือบ 3 แสนล้านบาท




วันนี้ ( 20 ก.ค.65 ) กรณีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมยางรถยนต์ระดับโลก สัญชาติญี่ปุ่น อย่าง “บริดจสโตน” ประกาศจะปิดโรงงานหล่อดอกยางเครื่องบินที่ฮ่องกง แล้วย้ายฐานผลิตมายัง จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทยในปีหน้า 2566 แทน เพราะเห็นว่าทำเลที่ตั้งของ EEC ใกล้ประเทศลูกค้ารายสำคัญในเอเชียและโอเชียเนียมากกว่า ส่งผลให้ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่า EEC ของไทยอยู่ในที่ตั้งอันได้เปรียบ เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนภูมิภาคอาเซียนเชื่อมต่อไปยังเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่นๆ ได้ จึงทำให้บริษัทอุตสาหกรรมจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง จนการลงทุนใน EEC เฟสแรกทะลุเป้าและใช้เวลาน้อยกว่าที่วางเอาไว้ถึง 1 ปี ทางบอร์ด EEC ต้องปรับให้เฟส 2 มาเร็วขึ้น เพื่อสานต่อสู่เป้าหมายอีกระดับให้เกิดการลงทุนมากกว่าเดิม ซึ่งสอดรับกับแกนที่ 2 ของกลยุทธ์ภาพใหญ่ 3 แกนหลักสร้างอนาคตไทยที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศให้เกิดการลงทุนและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการแก้ปัญหาความยากจน ยกระดับประเทศให้พ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูงและเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

ลงทุน EEC เฟส 2 มาเร็วกว่าเดิม หลังเฟส 1 ทะลุเป้าเร็วกว่ากำหนด 1 ปี



ข้อมูลจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC พบเป้าหมายให้เกิดการลงทุนใน EEC เฟสแรกที่เดิมวางไว้ 5 ปี คือระหว่างปี 2561-2565 ให้เกิดการลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท แต่ปรากฏว่าผ่านไปเพียง 4 ปี คือ 2561-2564 ยอดการลงทุนทะลุเป้าอยู่ที่กว่า 1.722 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลัก มูลค่ารวม 654,921 ล้านบาท ในจำนวนนี้ใช้งบประมาณภาครัฐลงทุนไปเพียง 5% ที่เหลือเป็นการลงทุนของเอกชนที่ลงทุนร่วมกับภาครัฐ หรือ PPP ขณะที่การลงทุนอีก 985,799 ล้านบาท มาจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มาลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่าง ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การแพทย์ครบวงจร การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร ดิจิทัล หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ โดยมีนักลงทุนจากต่างประเทศที่มาลงทุนใน EEC มีมูลค่ามากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และสวิสเซอร์แลนด์

นอกจากการลงทุนใน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักแล้ว ก็มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนใน EEC เฟส 1 ไปแล้วหลายร้อยโครงการ เกิดการจ้างงานประมาณ 3 - 4 หมื่นตำแหน่ง ยกตัวอย่างกลุ่มทุนที่เข้ามาลงทุนแล้ว

Enegy China ทุนใหญ่ด้านพลังงานจากจีน ลงทุนโรงไฟฟ้าไฮบริดในสนามบินอู่ตะเภา

อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ E-Commerce จากจีน ลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลและการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)

คิงซอฟท์ จากจีน ลงทุนด้านผลิตซอฟต์แวร์ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์ผลิตซอฟแวร์อาเซียน

5 บริษัทด้านเทคโนโลยี จากสหรัฐฯ นำโดย ซิสโก้ ซิสเต็มส์ และมาเวนเนีย ซิสเท็มส์ ลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ภาคอุตสาหกรรม

บริษัท บี กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า 8 แห่ง ในจังหวัดระยองและจังหวัดชลบุรี

กิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ เช่าพื้นที่ในมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อสร้างศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ ให้บริการถอดรหัสพันธุกรรม เป็นต้น

เมื่อการลงทุนในเฟสแรกทะลุเป้าและเร็วกว่ากำหนดถึง 1 ปี ทางบอร์ด EEC จึงเดินหน้าปรับให้เฟส 2 มาเร็วขึ้น กำหนดให้อยู่ระหว่างปี 2565-2569 หรือภายใน 5 ปี มีเป้าให้เกิดการลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 2.2 ล้านล้านบาท และยังเน้นให้เกิดการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า100% หรือรถ Ev ที่รัฐบาลมุ่งหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาเซียนและศูนย์การผลิตสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ทางบอร์ด EEC จึงจะเร่งเชิญชวนค่ายรถให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC มากขึ้น โดยขณะนี้มีค่ายรถจากจีนและญี่ปุ่น ลงนามกับกระทรวงการคลังเพื่อรับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีตั้งฐานผลิตรถ Ev ในไทยแล้วอย่างน้อย 4 ค่าย แต่ด้วยทำเลที่ตั้งของ EEC และไทย ที่มีความได้เปรียบเป็นประตูสู่อาเซียน เอเชียแปซิฟิกและเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลกได้ รวมทั้งภาครัฐสนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและตลาดของไทยเองก็มีความต้องการใช้รถ Ev สูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ทั้งหมดจึงเป็นสิ่งดึงดูดให้ค่ายรถมาตั้งฐานผลิตรถ Ev มากขึ้นแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาเซียนและศูนย์การผลิตสำคัญแห่งหนึ่งของโลกได้ตามเป้าหมาย

นอกจากรถ Ev แล้ว ในเฟส2 ของ EEC ยังจะเน้นสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล การแพทยสมัยใหม่และโลจิสติกส์ ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ซึ่งนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ EEC มั่นใจว่าทั้งหมดจะส่งผลให้มีมูลค่าการลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้นประมาณ 400,000 ล้านบาท/ปี และจะเป็นกลไกหลักผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5% ต่อปี ส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางก้าวสู่ประเทศพัฒนาที่คนไทยมีรายได้สูงขึ้นในปี 2572

แน้วโน้มลงทุนปีนี้สดใส คาดเกินเป้า 4.4 แสนล้านบาท

เป้าหมายให้เกิดการลงทุนใน EEC เฟส 2 ระยะเวลา 5 ปี ที่ 2.2 ล้านล้านบาท หากคิดเฉลี่ยต่อปีจะอยู่ที่ปีละ 440,000 ล้านบาท โดยปีนี้เป็นปีแรกของเฟส 2 มีการลงทุนผ่านการขอรับการส่งเสริมลงทุนในพื้นที่ EEC จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ใน 3 เดือนแรก มกราคม- มีนาคมไปแล้ว 107 โครงการ มูลค่าการลงทุน 60,360 ล้านบาท ส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล การแพทย์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เทคโนโลยีชีวภาพ ระบบอัติโนมัติและหุ่นยนต์ ท่องเที่ยว การเกษตร แปรรูปอาหาร โดยนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนมากสุด 5 อันดับแรกมาจาก ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ และสิงคโปร์

ขณะที่การประชุมบอร์ด BOI ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC รวมมูลค่า 209,478 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด มูลค่า 36,100 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด มูลค่า 162,318 ล้านบาท กิจการผลิตเส้นใยและกิจการผลิตผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษของกลุ่มบริษัท คิงบอร์ด โฮลดิ้งส์ มูลค่ารวม 8,230 ล้านบาท และการขยายกิจการผลิตไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ของบริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด มูลค่า 2,830 ล้านบาท

ทั้งนี้หากรวมมูลค่าการลงทุนใน 2 ส่วนคือ 3 เดือนแรกของปีกับกรณีที่บอร์ด BOI อนุมัติไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้มีมูลค่าการลงทุนไปแล้วกว่า 269,838 ล้านบาท จึงคาดว่าเวลากว่า 5 เดือนที่เหลือของปีนี้จะมีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งปีเกินค่าเฉลี่ยเป้าหมายให้เกิดการลงทุนต่อปีที่ 440,000 ล้านบาทได้

ภาครัฐเดินหน้าให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพื้นที่ EEC สานต่อแกน 2 กลยุทธ์ภาพใหญ่ 3 แกนหลัก


การลงทุนใน EEC สำเร็จได้ในแต่ละเฟสและจะสำเร็จได้โดยภาพรวมทั้งหมด น่าจะมาจากทางรัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องช่วยผลักดันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2561 ถึงปัจจุบัน เห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกำกับดูแลโครงการด้วยตัวเองในฐานะประธานบอร์ด EECและ BOI, การชักชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลุงทุนในทุกโอกาสที่ได้พบปะกับภาคเอกชนหรือรัฐบาลต่างประเทศ, การออกไปโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศของบอร์ด BOI และ EEC เพื่อชักชวนนักลงทุน , การให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนอย่างเหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้เอกชนเข้ามาลงทุน, การอนุมัติและเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญใน EEC ของคณะรัฐมนตรี ทั้งสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาปรับปรุงท่าเรือแหลมฉบัง - ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เร่งให้เกิดการก่อสร้าง รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อนุมัติสร้างศูนย์กลางธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของEEC เป็นต้น

ที่ยกตัวอย่างมาเป็นสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และยังต้องสานต่อพันธกิจนี้ต่อไป เพื่อให้การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมใน EEC รวมถึงพื้นที่อื่นของประเทศเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงและเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2575 หรือเร็วกว่านั้น ตามกลยุทธ์ภาพใหญ่ 3 แกนหลักสร้างอนาคตและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั่นเอง






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.