นายกฯ แจงสภาฯ ย้ำติดตามตรวจสอบให้ความสำคัญคดีคลองด่าน-GT200
21 ก.ค. 2565, 15:16
วันนี้ ( 21 ก.ค.65 ) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เวลา 11.13 น. ณ ห้องประชุมพระสุริยัน ชั้น 2 อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยได้ชี้แจงว่า เมื่อช่วงเช้านายกรัฐมนตรีได้ถวายเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศักราช 2565 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ขอมอบบุญให้กับทุกคนในช่วงเวลามงคลนี้ นายกรัฐมนตรีรับไม่ได้กับการก้าวล่วงสถาบันของชาติ ไม่ได้พูดเกินจริง หากมีคดีต้องต่อสู้กันในศาล
นายกรัฐมนตรีชี้แจงประเด็นเรื่องการก่อสร้างแท่นประดิษฐาน การปรับปรุงภูมิทัศน์พระบรมราชานุเสาวรีย์ ว่าเดิมมีการจัดซื้อจัดจ้างใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของกองทัพ โดยได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีคัดเลือก มีผู้ประกอบการ จำนวน 3 ราย เข้ายื่นเสนอราคา โดยผู้ชนะการคัดเลือกได้เสนอวงเงินในการก่อสร้าง จำนวนประมาณ 59 ล้านบาท ภายหลังการจัดทำสัญญา และระหว่างการก่อสร้าง ทางบริษัทคู่สัญญาได้แจ้งความประสงค์ที่จะบริจาคสิ่งปลูกสร้างที่แล้วเสร็จ ได้แก่ แท่นประดิษฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมถึงสาธารณูปโภคตามแบบรูปที่สัญญากำหนด และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กองทัพบกต้องการ โดยไม่ขอรับเงินค่าจ้างที่ระบุไว้ในสัญญา และยินยอมในการเลิกสัญญาและไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ซึ่งกรมยุทธโยธาทหารบกก็ได้ส่งคืนงบประมาณดังกล่าวซึ่งยังไม่ได้มีการเบิกจ่ายให้แก่ผู้ประกอบการให้แก่กองทัพบกต่อไป
นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับกรณีคลองด่าน และได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด และได้ยื่นคำร้องไปแล้วกับความต้องการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพื่อให้ขอวินิจฉัยเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งขณะนี้มีความขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการพิจารณา นายกรัฐมนตรีไม่อาจก้าวล่วง ส่วนเรื่องการอายัดทรัพย์สิน สำนักงานป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน (ปปง.) ได้อายัดทรัพย์สินของกิจการร่วมค้า NVPSKG ที่รับเงินตามคำพิพากษาไปแล้วเมื่อปี 2558 งวดที่ 1 ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วเป็นบางคดี และสำนักงาน ปปง. ได้ยื่นร้องฟ้องต่อศาลแพ่งดำเนินการอายัดสิทธิเรียกร้องที่กรมควบคุมมลพิษจ่ายในงวดที่ 2 และ 3 ศาลแพ่งก็ได้มีคำสั่งอายัดแล้ว อยู่ในระหว่างรอฟังผลคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด โดยรายละเอียดด้านกฎหมายต่าง ๆ เพิ่มเติม ขอให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชี้แจงเพิ่มเติมต่อไป
กรณีการฟ้องร้องดำเนินคดี GT200 ยืนยันว่าได้มีการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย มีการดำเนินคดีกับเอกชนที่เป็นคู่สัญญา รวม 13 คดี (แพ่ง 1 คดี อาญา 7 คดี และปกครอง 5 คดี) ซึ่งปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว จำนวน 5 คดี (แพ่ง 1 คดี อาญา 3 คดี และปกครอง 1 คดี) อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล รวมจำนวน 6 คดี (ศาลฎีกา 2 คดี และศาลปกครองสูงสุด 4 คดี) โดยได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 747 ล้านบาทเศษ ซึ่งผู้ถูกฟ้องบางส่วนได้ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแล้ว จำนวน 17 ล้านบาทเศษ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของกองทัพจะติดตามคดีที่ยังค้างอยู่อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการต่อไป ทั้งนี้ ประเด็น GT200 ถือเป็นปัญหาของทั้งโลกในหลายประเทศ ซึ่งเคยมีการใช้งานในสงครามอิรัก สงครามต่าง ๆ ในอดีต รวมไปถึงสนามบินต่าง ๆ ด้วย จึงเป็นปัญหาที่เผชิญร่วมกัน
เรื่องของการเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าในอนาคต มีเหตุผลความเป็นมา โดย กฟผ. แบกรับหนี้สินภาระมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยในระบบการผลิตจัดหาและจำหน่ายนั้น ไฟฟ้าในประเทศนั้นจะมีความเชื่อมโยงถึงกัน ทั้ง น้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้า แบ่งหน้าที่เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1) กลุ่มผลิตและระบบสายส่ง คือ กฟผ. 2) กลุ่มจำหน่าย คือ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งในส่วนใหญ่แล้วประชาชนจะเกี่ยวข้องกับสองส่วนภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ มูลค่าของการไฟฟ้าทั้งระบบอยู่ที่ 8-9 แสนล้านบาท ภาระหนี้สินเป็นผลมาจาก กฟผ. ซึ่งจำเป็นต้องจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอ ไม่ให้ดับ และเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานด้วย ปัจจุบัน กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเองประมาณร้อยละ 40 ส่วนที่เหลือได้มาจากการจัดซื้อต่างประเทศ อาทิ ลาว และมาเลเซีย หรือซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่และรายย่อยในประเทศ ซึ่งมีทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์พลังงานลม ชีวมวล กฟผ. จำเป็นติดตามและคาดการณ์สถานการณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็ต้องมีการประเมิน และนายกรัฐมนตรีเองได้เข้าร่วมการหารือทุกครั้ง รับฟังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทุกสมาคม
รัฐบาลมีความจำเป็นต้องมีการคำนวณจุดที่สูงสุดในการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เหมาะสมแต่ละช่วงเวลา ช่วงไหนที่ใช้มากใช้น้อย ต้องมีการเตรียมไฟฟ้าสำรองไว้ ไม่ให้เกิดเหตุไฟดับและไฟกระชาก ซึ่ง กฟผ. ก็ได้นำเหตุผลดังกล่าวนั้นมากำหนดราคาค่าไฟฟ้าที่ควรจะเป็น เพื่อจะขายให้ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งผลรูปแบบของการผลิตไฟฟ้าที่แตกต่างกันจะส่งผลกระทบกับต้นทุนไฟฟ้าที่แตกต่างกันออกไปเช่นเดียวกัน
ในเรื่องราคาไฟฟ้าที่จัดเก็บมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ราคาคงที่ ที่เก็บอยู่ประมาณ 4 บาท และมีค่าอัตราไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที (FT) ให้เหมาะสม ซึ่ง กฟผ. ใช้เป็นตัวปรับราคาค่าไฟฟ้า โดยคิดต่อจำนวนหน่วยที่มีการใช้งานจริง มีความละเอียดไม่ใช่คิดง่ายๆ โดยหากยกตัวอย่าง เช่น อัตราแลกเปลี่ยนราคาต้นทุนเชื้อเพลิง โดยจะมีการคำนวณต้นทุนล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ปัจจุบันมีการจัดเก็บในอัตรา 23 สตางค์ต่อหน่วย เป็นผลมาจากราคาถ่านหินที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 216.11 บาทต่อตัน ราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นประมาณ 2.33 บาทต่อลิตร ก๊าซธรรมชาติที่มีอัตราการใช้อยู่ประมาณร้อยละ 60 ซึ่งหากไปดูราคาน้ำมันในตลาดโลก ล้วนราคาขึ้นหมด กฟผ. ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และยังไม่ได้ปรับราคา FT ตั้งแต่ปีก่อนหน้า
เรื่องของราคาก๊าซธรรมชาติ มีการนำก๊าซธรรมชาติแบบเหลวในการผลิตไฟฟ้า เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแบกรับภาระหนี้สินของ กฟผ. ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ส่วนใหญ่มีการนำก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาเข้ามา ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งพลังงานรายใหญ่ของประเทศ ประกอบกับการผลิตที่เกิดจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยที่ลดลงไปเยอะมาก รวมทั้งผลกระทบจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคือการบริหารให้ได้ และรับฟังความคิดเห็น ให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบของความถูกต้องในเรื่องกฎระเบียบ
ในเรื่องของการเปลี่ยนรูปแบบสัญญาสัมปทานไทยได้ใช้แนวทางแก้ปัญหาโดยทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากประเทศในตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์ โอมาน ซึ่งมีต้นทุนสูงขึ้นมากโดยต้องใช้กรรมวิธีพิเศษในการขนส่งและการนำมาใช้ เป็นผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่ กฟผ. ก็ยังไม่ได้ปรับราคา FT ในช่วงของปีก่อนหน้า ขาดไป 38,000 ล้านบาท และปีนี้อีกประมาณ 44,000 ล้านบาท ติดค้าง supplier หลายราย โดยถึงแม้ว่าจะมีการปรับค่า FT ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ก็ตาม ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อไป โดยมองจากต้นทาง กลางทาง และปลายทาง คือผู้ใช้งาน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีติดตามเรื่องการค้าการลงทุน ราคาสินค้าพืชพันธุ์เกษตรกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีห่วงใยเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ต้องการให้เกิดการรวมกลุ่มกัน ใช้เครื่องมือร่วมกัน ซึ่งตอนนี้รัฐบาลเข้ามาดูแล ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องมือทั้งหมด สามารถเช่าได้ และไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นการเอื้อประโยชน์รายใหญ่ใด ๆ นายกรัฐมนตรีต้องการให้เกษตรกรไทยผู้ที่มีที่ดินน้อยกว่า 5 ไร่ 10 ไร่ ซึ่งมีจำนวนมาก และรายได้ไม่เพียงพอ เกิดการรวมกลุ่มกัน แบ่งปัน ดูแลซึ่งกันและกัน ถ่ายทอดวิธีการปลูกระหว่างกัน และปลูกตามแนวพระราชดำริ ทฤษฎีใหม่ ซึ่งรัฐบาลได้เข้าไปดูแล ให้ไปปลูกพืชอย่างอื่นที่ขาดแคลนและต้องนำเข้า ขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวของไทยมีปริมาณสูงมาก แต่ที่บอกว่าเราส่งขายได้น้อย ทั้งนี้เพราะต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งรัฐบาลกำลังแก้ไข เพื่อให้สามารถลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด โดยดูที่ต้นทางการผลิต ในเรื่องการตลาด ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์รับนโยบายรัฐบาลในการหาตลาดเพิ่ม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หาแนวทางให้เกษตรแปลงใหญ่สามารถค้าขายข้าวโดยตรงได้ นอกเหนือจากการส่งข้าวผ่านทางสมาคมส่งออก เพื่อให้ราคาสามารถแข่งขันได้ ประเทศไทยเรามีของดีทั้งหมด แต่ปัญหาคืออาจจะมีมากจนทำให้ราคาไม่สามารถแข่งขันได้ ราคาแพงเพราะต้นทุนแพง ซึ่งรัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก็มีความก้าวหน้าตามลำดับ แต่คงไม่สามารถพูดได้ว่าสำเร็จแล้ว การแก้ปัญหาทุกอย่าง ทั้งปัญหาความยากจน หนี้สาธารณะ เป็นต้น รัฐบาลนี้เอาขึ้นมาเป็นประเด็นทั้งหมด เพื่อจะแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นที่กล่าวว่า ทุกอย่างที่นายกรัฐมนตรีทำ เสียหายทั้งหมด ก็ดูกันต่อไป พร้อมขอให้พูดในสภาอย่างสร้างสรรค์บ้าง นายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังในส่วนที่เป็นประโยชน์
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โลกในทุกวันนี้เกิดผลกระทบกับทุกประเทศทั่วโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย อยากให้ดูว่าเราแก้ปัญหามากน้อยเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลให้รายได้ลดลง ประชาชนที่มีรายได้น้อยเดือดร้อน รัฐบาลจึงมีมาตรการเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลผู้มีรายได้น้อย เรื่องน้ำมัน เรื่องกลุ่มเปราะบาง ทั้งหมดเราใช้งบประมาณไปสูง อาจจะมองว่าเรากู้เงินไปมาก ก็เพราะมีความจำเป็นต้องกู้ แต่ขณะเดียวกันเรามีทุนสำรองที่มากพอสมควรเพื่อความเชื่อมั่นให้ระบบการเงินการคลังของไทย และยังมีขีดความสามารถในการชำระหนี้สาธารณะ สถานการณ์เช่นนี้ กระทบกับหลายๆประเทศ ไทยไม่ได้อยู่ในฐานะรัฐล้มเหลว ทุกประเทศยังเชื่อมั่น เชื่อใจ พุ่งเป้า ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในเรื่องของการลงทุน
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญคือคนไทยมองไทยกันเองอย่างไร เป็นสิ่งสำคัญ ขอให้ระมัดระวังการจะพูดที่อาจกระทบกับการต่างประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้าน เพราะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องของประชาชนต่อประชาชน รายได้ มีมูลค่าการค้าขายชายแดนจำนวนมหาศาล ตลอดจนความปลอดภัยของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนตามแนวชายแดน ซึ่งรองนายกฯ จะแถลงอีกครั้ง
นายกรัฐมนตรียืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลทำ ไม่ใช่ว่าไม่ดีทุกเรื่อง แม้ไม่ได้ดีที่สุด แต่ไม่ได้แย่ที่สุด สิ่งที่ถูกอภิปรายอาจสร้างความเข้าใจผิดได้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นประเด็นหลัก มากกว่าการทะเลาะเบาะแว้ง พูดรุนแรงกันไปมา ซึ่งเราต่างเป็นมนุษย์ด้วยกันและนายกรัฐมนตรีให้เกียรติสมาชิกฯ เสมอ แม้จะถูกโจมตี แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ต้องยอมรับการอภิปราย