รัฐบาล เผย ก.เกษตรเจ้าภาพประชุมรมต.ความมั่นคงอาหารเอเปค 26 ส.ค.นี้
22 ก.ค. 2565, 15:51
วันนี้ ( 22 ก.ค.65 ) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคงอาหารที่หลายประเทศทั่วโลกต่างวิตกกังวล และเป็นกระแสการตื่นตัวไปทั่วโลกในขณะนี้ มีประชากรโลกเกือบ 200 ล้านคนที่กำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเกิดจากหลากหลายปัจจัยด้วยกันนั้น ในส่วนของประเทศไทยยืนยันว่ามีผลผลิตเพียงพอต่อประชาชนในประเทศ ทั้งกลุ่มสินค้าคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ขณะที่กลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรม อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้า ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางมาตรการระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไว้แล้ว ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการ
นางสาวรัชดาฯ กล่าวว่า วันที่ 26 สิงหาคม 2565 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 (The 7th APEC Virtual Food Security Ministerial Meeting) ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค และจะมีการรับรองปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปคร่วมกับสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยจะผลักดันประเด็นหลักที่จะช่วยสนับสนุนโยบายความมั่นคงด้านอาหาร และครัวไทยสู่ครัวโลก
สำหรับประเทศไทย แม้จะเป็นผู้ผลิตอาหารสำคัญในฐานะ‘ครัวโลก’ ซึ่งมีความพอเพียงของอาหารในการบริโภคภายในประเทศ แต่รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในวิกฤตการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น มีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบ ผ่านกลไกคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับด้านนโยบายอาหารของประเทศโดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านต่างๆ ทุกมิติ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยใช้วิกฤตการณ์กลายเป็นโอกาสที่สำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น โดยจากข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรปี 2565 ช่วง 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม) เทียบกับปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 5.48 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 6.91 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 142,986 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 26
"นโยบายการเป็นครัวโลกของรัฐบาล มุ่งเน้นทั้งความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ สร้างมาตรฐานคุณภาพอาหารและโภชนาการ และเร่งดำเนินการขยายการส่งออกสินค้าเกษตร ภายใต้แนวทาง “การตลาดนำการผลิต” ซึ่งคำนึงถึงความต้องการและรสนิยมผู้บริโภคในตลาดต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย เน้นการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาการส่งออกทำได้ดีอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมียอดส่งออกได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้" นางสาวรัชดาฯ ย้ำ