เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สุดยอด!! 2 สามีภรรยาชุมพร "ทำน้ำตาลปี๊บ" จากน้ำมะพร้าว เผยกรรมวิธีการผลิตทุกขั้นตอน


18 ก.ย. 2562, 14:22



สุดยอด!! 2 สามีภรรยาชุมพร "ทำน้ำตาลปี๊บ" จากน้ำมะพร้าว เผยกรรมวิธีการผลิตทุกขั้นตอน




ผู้สื่อข่าว ONB news ได้รับแจ้งจากชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ตำบลสวีว่า มีสองสามีภรรยาประกอบอาชีพทำน้ำตาลปี๊บจากมะพร้าวส่งขาย ซึ่งเป็นน้ำตาลปี๊บจากน้ำตาลมะพร้าวร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งในปัจจุบันนี้อาชีพนี้เริ่มจางหายไป และน้ำตาลปี๊บที่ทำจากน้ำตาลมะพร้าวร้อยเปอร์เซ็นต์ก็มีน้อยมากส่วนใหญ่จะผสมน้ำตาลทรายหรือมีสิ่งอื่นเจือปน

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่พบ นายสมยศ รอดมี อายุ 58 ปี และนางดวงใจ รอดมี อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ 5 ตำบลท่าหิน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร กำลังช่วยกันเก็บน้ำหวานที่ได้จากน้ำของช่อดอกมะพร้าวเรียกว่า งวง หรือ จั่น ซึ่งคุณลุงสมยศกำลังปีนขึ้นไปบนต้นมะพร้าวเก็บกระบอกที่รองรับน้ำหวานบนต้นมะพร้าวที่ได้ปาดงวงไว้ตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็น และนำเอากระบอกอันใหม่ขึ้นไปรองรับน้ำหวานที่กำลังจะปาดงวงใหม่เพื่อจะทำการเก็บอีกครั้งในช่วงเย็น ในกระบอกคุณลุงสมยศ จะใส่เศษไม้เคี่ยมเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหวานที่รองไว้เสีย ในแต่ละวันจะทำหมุนเวียนแบบนี้ เรียกได้ว่าขึ้นไปจะไม่เสียเที่ยวเลยทีเดียว

ในขณะที่คุณป้าดวงดี ภรรยาของ คุณลุงสมยศ จะรออยู่ด้านล่าง เพื่อรอรับกระบอกน้ำหวานที่คุณลุงจะเก็บลงมาจากบนต้นมะพร้าว เมื่อได้กระบอกน้ำหวานลงมา คุณป้าจะนำมาเทลงในถังและกรองด้วยกระชอน เพื่อกรองเอาเศษไม้เคี่ยม มดแมลงต่างๆ ที่ลงไปในกระบอกน้ำหวาน เมื่อได้น้ำหวานที่กรองเรียบร้อยแล้วก็นำกลับมาที่บ้านเข้าสู่กระบวนการทำน้ำตาลมะพร้าวต่อไป

นายสมยศ รอดมี เปิดเผยว่า ตนเองประกอบอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวขาย มาเป็นระยะเวลา 21 ปี ปัจจุบันต้นมะพร้าวที่สามารถให้น้ำหวานได้ประมาณ 25 ต้น ในพื้นที่ 15 ไร่ ซึ่งปลูกผสมผสานไปกับปาล์มน้ำมัน ในอนาคตคุณลุงสมยศ บอกว่าจะโค่นปาล์มน้ำมันออกเพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าราคาไม่คุ้มกับค่าจ้างตัดและนับวันราคาก็ตกต่ำไปเรื่อยๆ แต่การปลูกมะพร้าวเพื่อเอาน้ำหวานมาทำน้ำตาลมะพร้าวนั้นให้ผลผลิตที่คุ้มค่ากว่า และยังเป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันไม่พอต่อความต้องการของตลาด

ในแต่ละรอบที่ คุณลุงสมยศ เก็บน้ำหวานนั้นจะได้ครั้งละประมาณ 40 ลิตร และจะเอาน้ำหวานที่ได้มาใส่ในกระทะขนาดใหญ่รวมไว้ประมาณ 3 วัน และในแต่ละวันจะต้องอุ่นน้ำหวานเพื่อไม่ให้น้ำหวานเสีย การที่ต้องรวบรวมไว้ 3 วัน เพื่อให้ได้น้ำหวานในปริมาณที่มากพอเพื่อจะได้คุ้มค่าในการเคี่ยว เพราะต้องใช้เวลาในการเคี่ยวประมาณ 3 ชั่วโมง

 

 

สำหรับขั้นตอนในการเคี่ยวนั้นไม่ได้ยุ่งยาก ขั้นตอนแรกคือเอาน้ำหวานที่ได้มาใส่รวมกับน้ำหวานที่อุ่นไว้แล้วในกระทะซึ่งเตาที่ใช้ในการเคี่ยวน้ำตาลนั้นจะเป็นเตาที่ได้มาจากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมาเอง โดยจะก่อด้วยปูนเป็นแนวยาวและเปิดเป็นช่องเพื่อวางกระทะ จำนวน 3 ใบ เว้นระยะพอให้สามารถวางกระทะแล้วไม่ชนกัน และก่อไฟที่บริเวณด้านหน้าหลังจากนั้นก็ใส่ไม้ฝืนและเปลือกมะพร้าว แล้วค่อยๆ ใช้เหล็กเขี่ยไม้ฝืนให้เข้าไปด้านในเพื่อให้กระทะที่อยู่ด้านในได้รับความร้อน เมื่อไฟเริ่มติดน้ำหวานในกระทะก็จะเริ่มเดือด คุณลุงสมยศ จะนำอุปกรณ์ทรงกลมเป็นสแตนเลส สูงประมาณ 50 เซนติเมตร วางครอบลงบนกระทะที่ใส่น้ำหวานมะพร้าวและนำไม้ไผ่สานเป็นวงกลมหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ครอม ครอบลงไปอีกครั้งเพื่อป้องกันเวลาน้ำหวานมะพร้าวเดือดจะมีฟองเกิดขึ้นมาสูงล้นออกมาด้านนอก และจะทำให้น้ำมะพร้าวไม่ไหลลงมานอกกระทะ

เมื่อน้ำหวานมะพร้าวมีความเหนียวข้นขึ้น คุณลุงจะเอาน้ำหวานมะพร้าวในกระทะที่สองมารวมกับกระทะที่ 1 ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เคี้ยวจนน้ำมะพร้าวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มและเหนียวข้นมากขึ้นหรือเคี้ยวจนเป็นน้ำตาล หลังจากนั้นก็จะยกกระทะลงจากเตาและนำมาวางด้านล่างและใช้เครื่องตีที่คิดประดิษฐ์ขึ้นเองตีจนน้ำตาลเหนียวและเริ่มแห้ง ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นก็ตักใส่ในปีบ จนที่รู้จักกันในชื่อที่เรียกกันว่าน้ำตาลปี๊บนั้นเอง


โดยคุณลุงสมยศ ยังบอกอีกว่า หากคิดเฉลี่ยน้ำตาลมะพร้าว จำนวน 5 ลิตร ก็จะได้น้ำตาลปีบ 1 กก. และในแต่ละวัน จะเก็บเกี่ยวน้ำตาลมะพร้าว มาได้ประมาณ 40 ลิตร 3 วัน ก็รวมกันเป็น 120 ลิตร เมื่อนำมาเคี้ยวก็จะทำน้ำตาลปีบ 24 กก. และจะขายในราคากิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งร้านขนมชื่อดังของอำเภอสวี อย่างพ่อต่วนจะรับซื้อน้ำตาลปี๊บของคุณลุงไม่อั้นเรียกได้ว่ามีเท่าไหร่เอาหมด เพราะมั่นใจในคุณภาพว่าเป็นน้ำตาลปี๊บจากน้ำหวานมะพร้าวร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่เจือปนสิ่งอื่นอย่างแน่นอน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าการทำขนมไทยให้อร่อยน้ำตาลเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

นอกจากนี้ คุณลุงสมยศ ยังกล่าวว่าอีกว่า ปัจจุบันนี้อาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวเริ่มจางหายไป ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจที่คิดว่าเห็นผลผลิตที่คุ้มค่ามากกว่าอย่างเช่น ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ส่งผลให้พื้นที่ในการปลูกมะพร้าวน้อยลง และส่วนหนึ่งคือคนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจในการสืบทอดอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลปี๊บมะพร้าวที่ไม่มีสิ่งอื่นเจอปน ที่นับวันหาได้ยากมาก กำลังจะหายไป ซึ่งตนเอง ก็มีอายุมาก 58 ปีแล้ว ก็จะทำอาชีพนี้ไปจนกว่าไม่มีแรงขึ้นต้นมะพร้าว เพราะอยากให้ ลูกหลานได้กินน้ำตาลมะพร้าวที่มีรสชาติอร่อยและมีคุณภาพ ต้องน้ำตาลปีบที่ อ.สวี จ.ชุมพรเท่านั้น

หากใครอยากชิมหรือสนใจในการทำน้ำตาลมะพร้าวสามารถติดต่อ คุณลุงสมยศ และ คุณป้าดวงใจ ได้ที่เบอร์ 065-3541213

 









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.