สธ.ถกยกระดับเฝ้าระวังฝีดาษลิง หลัง WHO ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
24 ก.ค. 2565, 15:28
วันนี้ ( 24 ก.ค.65 ) ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ประชุมเตรียมแนวทางรองรับโรคฝีดาษวานร โดยมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมเข้าประชุมผ่านระบบวิดีโอทางไกล
นายอนุทินกล่าวว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสฝีดาษวานร (Monkeypox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) กระทรวงสาธารณสุขได้เรียกประชุมทันทีเพื่อเตรียมแนวทางตอบสนองต่อสถานการณ์ ทั้งด้านการเฝ้าระวังโรค การป้องกันและการดูแลรักษา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเฝ้าระวังติดตามไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรียซึ่งปัจจุบันได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้ว รวมถึงได้ตรวจสอบผู้สัมผัสใกล้ชิดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่พบผู้ใดที่ติดเชื้อ จึงได้สั่งการให้ด่านควบคุมโรคทั่วประเทศประสานงานกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ให้เพิ่มความระมัดระวังบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานของระบบเฝ้าระวังจากสถานการณ์โควิด 19 อยู่แล้ว ยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับการเฝ้าระวังจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรมควบคุมโรค เป็นศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้การสั่งการเฝ้าระวังมีความครอบคลุมทั่วประเทศ สำหรับวัคซีนโรคฝีดาษคนที่องค์การเภสัชกรรมได้เก็บรักษาไว้ตามมาตรฐานเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำมาทดสอบพบว่ายังมีคุณภาพดี หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้ได้ ส่วนด้านการรักษาพยาบาล โรคนี้มียารักษาเฉพาะ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง จึงใช้การรักษาตามอาการ ซึ่งสถานพยาบาลทุกแห่งสามารถให้การดูแลได้ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องความดันลบ โดยวันพรุ่งนี้ (25 กรกฎาคม 2565) คณะกรรมการวิชาการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข จะมีการประชุมหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคตามแนวทางคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกต่อไป
“ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากโรคฝีดาษวานรติดต่อกันได้ยากกว่าโรคโควิด 19 ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคฝีดาษวานร ซึ่งมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว รวมทั้งการสัมผัสเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งวิธีป้องกันโรคโควิด 19 ที่ทุกคนปฏิบัติอยู่ คือ เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการติดโรคได้ส่วนหนึ่ง” นายอนุทินกล่าว