เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"รั้วรังผึ้ง" ช่วยได้ ป้องกันช้างป่า กว่า 80%


10 มิ.ย. 2562, 13:31



"รั้วรังผึ้ง" ช่วยได้ ป้องกันช้างป่า กว่า 80%




10 มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เดินทางไปยัง สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเข้าชมแปลงสาธิตและแปลงเกษตรทดลอง นายนพดล ลานทะจันทร์ เกษตรบ้านนาน้อย ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ ที่ทดลองทำ รั้วรังผึ้งในพื้นที่รอบภูหลวง ซึ่งรั้วรังผึ้ง มีประสิทธิภาพในการป้องกันพื้นที่จากช้างป่าได้มากกว่า 80% สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้จากการผลิตน้ำผึ้งแท้ 100% ให้กับเกษตรกร และลดความรุนแรง เพิ่มความเข้าใจในการเรียนรู้อยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและช้างป่า  

        



นางรชยา อาคะจักร นักวิจัยสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง กล่าวว่า จากปัญหาที่ช้างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จำนวนมาก ในขณะนี้ ประมาณ 140 ตัว ออกไปหากินนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอำเภอวังสะพุง อำเภอภูหลวง อำเภอด่านซ้าย อำเภอนาแห้ว จนมีปัญหา กับชาวบ้านเพราะช้างนั้นเข้าไปกินอาหาร พืชผลทางการเกษตร จนจังหวัดต้องหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

ช้างป่ากับผึ้ง ( Elephant And Bees) เริ่มต้นสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวงได้ทำการศึกษาคู่มือการทำรั้วรังผึ้ง (Beehive fence construction manual) โดย Dr. Lucy E. King. (2012) ซึ่งได้เริ่มต้นจากแนวความคิดซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวแซมบุรู ประเทศเคนยาพบว่าบ่อยครั้งที่ช้างป่าจะวิ่งหรือเดินหนีและออกห่างจากฝูงผึ้งและรังผึ้งหรือพื้นที่ที่มีผึ้งอาศัยอยู่ ดังนั้นจึงได้นำแนวความคิดนั้นมาประยุกต์ใช้โดยการจัดทำรังผึ้งให้เป็นรั้วคือการนำกล่องรังผึ้ง (กล่องไม้ ) มาแขวนบนคานและใช้เชือกหรือลวดมาเชื่อมต่อกันระหว่างกล่องผึ้งแต่ละกล่องจนเป็นแนวรั้ว เพื่อขัดขวางหรือเปลี่ยนเส้นทางการเดินของช้างป่าหรือล้อมรอบแปลงปลูกพืชเกษตร จากคลื่นเสียงความถี่ต่ำของการบินของผึ้งมีผลต่อการระวังภัยของช้างป่า โดยช้างป่าที่มีประสบการณ์ด้านลบกับผึ้ง (ความหวาดกลัว) หรือที่เคยพบเจอผึ้งในป่าจะเกิดความระวังเพราะถูกรบกวน ทั้งนี้ผึ้งจะบินวนรอบๆที่ดวงตา, ปลายงวงและบริเวณผิวหนังที่บางตรงส่วนหลังใบหูของช้างป่า (sensitive place) ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ช้างป่าเกิดความรำคาญและทำให้หลีกเลี่ยงกันได้ ซึ่งความรู้สึกด้านลบนี้จะถูกถ่ายทอดพฤติกรรมสู่ครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น

วัตถุประสงค์หลักของการใช้รั้วรังผึ้งป้องกันช้างป่า เพื่อป้องกันพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัยจากช้างป่าที่ออกมาหากินในพื้นที่ชุมชน เพื่อส่งเสริมอาชีพทางเลือกที่ยั่งยืนแก่เกษตรกรโดยการเลี้ยงผึ้งเพื่อจำหน่ายน้ำผึ้งควบคู่ไปกับการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดข้อขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าและให้ชุมชนเรียนรู้อยู่ร่วมกันเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์ช้างป่าอย่างยั่งยืน

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2557 สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง ศึกษาคู่มือและศึกษาการใช้รั้วรังผึ้งเพื่อป้องกันพื้นที่เกษตรจากช้างป่าโดยทำการทดลองใช้รั้วรังผึ้งป้องกันพื้นที่การเพาะปลูกข้าวโพดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงเดือนมกราคม 2558 ที่แปลงเกษตรกรชื่อ นางสาน จุตะโน ราษฎรบ้านนาน้อย ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินที่ช้างป่าออกมาหากิน และทำลายพืชเกษตรที่ปลูกเป็นประจำทุกๆ ปี พบว่ารั้วรังผึ้งสามารถป้องกันพื้นที่ได้โดยช้างป่าเขามาใกล้แปลงทดลอง 1 ครั้ง โดยหลีกเลี่ยงเส้นทางด่านเดิมเนื่องจากมีแนวรั้วรังผึ้งขวางอยู่ และเกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตข้าวโพดได้

 

พ.ศ.2558 สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวงได้รับทุนเผยแพร่และนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เรื่องการใช้รั้วรังผึ้งเพื่อป้องกันพื้นที่เกษตรจากช้างป่า โดยทางสถานีฯได้เผยแพร่และศึกษาประสิทธิภาพการใช้รั้วรังผึ้งเพื่อป้องกันพื้นที่เกษตรจากช้างป่าที่แปลงทดลองปลูกข้าวโพดและนาข้าว นายพิมพา คำมานิตย์ ราษฎรบ้านนาน้อย ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ผลการทดลองรั้วรังผึ้งสามารถป้องกันพื้นที่ได้ 71 เปอร์เซ็นต์ และในปีเดียวกันสถานีวิจัยฯ และร่วมกับโครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กปร. เพื่อสร้างแปลงต้นแบบการใช้รั้วรังผึ้งป้องกันพื้นที่เกษตรในพื้นที่จังหวัดเลย จำนวน 3 ราย

พ.ศ.2559 สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวงได้รับมอบหมายจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สร้างแปลงต้นแบบการใช้รั้วรังผึ้งป้องกันพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัยจากช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก ในบริเวณพื้นที่ ต.พวาและต.ขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรีจำนวน 2 ราย ผลการทดลองเบื้องต้นช้างป่ามาแปลงต้นแบบ 1 จำนวน 25 ครั้ง สามารถป้องกันพื้นที่ได้มากถึง 92 เปอร์เซ็นต์ (เดือนมิถุนายน 2559 - ธันวาคม 2559) และเกษตรกรยังคงใช้รั้วรังผึ้งจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ.2560 สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวงได้รับมอบหมายจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ขยายแปลงต้นแบบการใช้รั้วรังผึ้งป้องกันพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัยจากช้างป่าระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินงาน 10 เดือน (ธ.ค. 2559-ก.ย.2560)        

   


สำหรับในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มีแปลงตัวอย่าง ที่พร้อมจะขยาย ของ นายนพดล ลานทะจันทร์ เกษตรบ้านนาน้อย ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ การเริ่มต้นเลี้ยงผึ้งที่เหมาะสมในการป้องกันพื้นที่เกษตรหรือที่อยู่อาศัยและเป็นรายได้เสริมเพื่อเป็นอาชีพทางเลือกของเกษตรกร สามารถเริ่มต้นจากจำนวน 40-50 กล่องต่อ 1 ครอบครัว (ประเมินจากครอบครัวที่มีแรงงาน 2 คน) หรือตามความเหมาะสมกับสภาพของครอบครัว กล่องผึ้งแต่ละกล่องเมื่อทำเป็นแนวรั้วจะห่างกันประมาณ 7 เมตร สามารถจัดวางเป็นแนวรั้วได้ระยะทางประมาณ 350 เมตร ต้นทุนเริ่มต้นประกอบด้วยค่าพันธุ์ผึ้งชุดละประมาณ 4,500 บาท (1ชุด ประกอบด้วยกล่องผึ้ง 5-8คอน และอุปกรณ์ทำรั้ว ) รายได้เริ่มต้นเมื่อผึ้งสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ประมาณ 300 กิโลกรัม/ปีราคาขายกิโลกรัมละ 150-500 บาท คิดเป็นรายได้ประมาณ 60,000-100,000 บาทต่อปีต่อครอบครัว

ทั้งนี้เกษตรกรต้นแบบกำลังดำเนินการฝึกเลี้ยงและดูแลผึ้งโดยมีทีมวิทยากรจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง ติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกษตรกรต้นแบบดังกล่าวสามารถดำเนินงานได้ด้วยตนเอง สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน อาทิ เพื่อเป็นการสร้างรูปแบบทางเลือกในการป้องกันพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัยจากช้างป่า สร้างอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกร (การเลี้ยงผึ้ง) และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยการลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชแบบผสมผสาน (ไม้ผล/ไม้ยืนต้น) และเป็นเครื่องมือในการร่วมปฏิบัติงานแบบใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ และคนในชุมชนซึ่งจะนำไปสู่การลดข้อขัดแย้งและสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์ช้างป่าอย่างยั่งยืน

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.