ปภ.เตือน เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและคลื่นลมแรง ในช่วง 5 วันนี้
19 ก.ย. 2562, 12:11
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่าและปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชา ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนหนักบางพื้นที่ ประกอบกับในช่วงวันที่ 22 – 23 กันยายนนี้ ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 19 - 23 กันยายนนี้ อีกทั้งคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ประกอบด้วย ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ตราด ภาคกลาง ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ประกอบด้วย ภาคกลาง ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา และภูเก็ต โดยให้ศูนย์ ปภ.เขต ในพื้นที่ร่วมกับจังหวัดติดตามข้อมูลปริมาณน้ำ การระบายน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัยและเครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมถึงประชาสัมพันธ์แนวโน้มสถานการณ์ภัยแก่ประชาชนผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์น้ำและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังรายงานจากอิทธิพลพายุโซนร้อน "โพดุล" และพายุโซนร้อน“คาจิกิ” ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคมจนถึงปัจจุบัน (19 กันยายน 2562 เวลา 06.00 น.) ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ในพื้นที่ 32 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 418,549 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 34 ราย ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ
ปภ. ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมสรรพกำลังเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง รวมถึงดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยเป็นหลัก อีกทั้งสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้โดยด่วนทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง