เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



อธิบดี อส. สั่งตรวจสอบแล้ว ! คลิปชาวต่างชาติจับปลานกแก้ว ในเขตอุทยานฯ


11 ส.ค. 2565, 16:49



อธิบดี อส. สั่งตรวจสอบแล้ว ! คลิปชาวต่างชาติจับปลานกแก้ว ในเขตอุทยานฯ




จากกรณีชาวโซเชียลดราม่าเมื่อเห็นภาพชาวต่างชาติกำลังตกปลานกแก้ว ที่เกาะพีพี ซึ่งปลานก จัดอยู่ในหมวดปลาอนุรักษ์ การจับปลานก มีโทษทางกฏหมาย 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ (11 ส.ค.)นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดเผยว่าได้ทำการตรวจสอบผู้โพสต์ TikTok ใช้ชื่อบัญชี roslanofficial แล้วพบว่าในคลิปชายหนุ่ม และกัปตันเรือ ยืนถือปลานกแก้ว 3 ตัว ปลาไม่ทราบชนิด 2 ตัว และใช้มีดแทงหัวปลาไหลทะเล 1 ตัว

 



โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้าดำเนินการตรวจสอบพื้นที่บริเวณเกิดเหตุ จากการตรวจสอบพบพื้นที่เกิดเหตุอยู่บริเวณเกาะพีพีเล เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการรวบรวมหลักฐานเปรียบเทียบพิกัดที่เกิดเหตุตามคลิปวิดีโอดังกล่าว ซึ่งทราบว่าเรือที่ก่อเหตุชื่อเรือ “เอวาริน” ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายและกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีประกาศฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทำอันตรายกับสัตว์ต่างๆ ทุกชนิดในอุทยานแห่งชาติ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดและต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16(3) นำสัตว์ออกไปหรือทำอันตรายด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ ประกอบกับ มาตรา 21 ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 16 ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ หรือ งดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 24 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 16(3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับ ปลานกแก้ว (Parrotfish) เป็นปลาทะเลขนาดกลางชนิดหนึ่ง มีเกล็ดขนาดใหญ่ จะงอยมีปากยืดหดได้ ปากคล้ายนกแก้ว (เป็นที่มาของชื่อปลานกแก้ว) เนื่องจากปลานกแก้วมีรูปร่าง ลักษณะและสีสันสวยงาม จึงมีผู้นิยมจับมาดูเล่นและนำมาเป็นอาหาร ทำให้ประชากรปลานกแก้วลดลง ส่งผลกระทบระบบนิเวศโดยรวมของทะเลบริเวณนั้นก็จะเสียสมดุลไปอย่างมาก ปะการังตายมากขึ้น ฟื้นตัวช้า และเมื่อเกิดการฟอกสีเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ก็จะฟื้นตัวยากหรือตายไปอย่างถาวร


ขอบคุณ news.dnp.go.th






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.