ครม.ไฟเขียวไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพประชุม คกก.มรดกโลกครั้งที่ 46 วงเงิน 350 ล้านบาท
23 ส.ค. 2565, 16:33
วันนี้ ( 23 ส.ค.65 ) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ประเทศไทยสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 พร้อมเห็นชอบกรอบวงเงินในการจัดประชุม จำนวน 350 ล้านบาท โดยมอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ลงนามในหนังสือแจ้งความประสงค์ในการเสนอเป็นเจ้าภาพการประชุมฯครั้งที่ 46 ถึงศูนย์มรดกโลก
ทั้งนี้ หากไทยได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครม.เห็นชอบให้เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ลงนามในเอกสารเพื่อจัดทำความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Host Country Agreement : HCA) ร่วมกับผู้แทนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) โดยการพิจารณาการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จะมีการพิจารณาในการประชุมฯครั้งที่ 45 ซึ่งเดิมกำหนดจัดการประชุมระหว่างวันที่ 19-30 มิถุนายน 2565 ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย แต่เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ประธานกรรมการมรดกโลกได้มีหนังสือแจ้งรัฐภาคีว่า ให้เลื่อนการจัดประชุมครั้งที่ 45 ออกไปก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดช่วงเวลาการจัดประชุมฯครั้งที่ 45 แต่ยังคงอยู่ในช่วงปี 2565 นี้
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ตามแผนงานที่กำหนดไว้ หากไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จะจัดประชุมในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2566 เบื้องต้นคาดว่าจะจัดการประชุมฯที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยในฐานะการเป็นผู้นำในการดำเนินการภายใต้กรอบการดำเนินงานของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกฯ รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโครงการ กิจกรรม และข้อริเริ่มใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การต่อยอดและขยายความร่วมมือ รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ในการดำเนินงานและความร่วมมือกับองค์กรและนานาชาติต่อไป
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างและขยายโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 โดยจากข้อมูลสถิติในการจัดการประชุมที่ผ่านมา ในการประชุมฯครั้งที่ 40-43 มีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งละไม่ต่ำกว่า 2,300 คน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการต้อนรับผู้มาเยือน และมีเม็ดเงินหมุนเวียนจากการใช้จ่ายในด้านต่างๆทั้งในการเดินทาง ที่พัก การท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายทั่วไป