เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มหาดไทยปลุกพลังสตรีร่วมสืบสานพระราชปณิธาน "สมเด็จพระพันปีหลวง"


24 ส.ค. 2565, 17:02



มหาดไทยปลุกพลังสตรีร่วมสืบสานพระราชปณิธาน "สมเด็จพระพันปีหลวง"




วันนี้ ( 24 ส.ค.65 ) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ "โครงการสานพลังสตรีไทสกล เทิดไท้พระมารดาแห่งผ้าไทย" โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายสตรีในพื้นที่จังหวัดสกลนครจาก 18 อำเภอ จำนวน 950 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย ณ โรงแรมพีซีแกรนด์พาเลซ จังหวัดสกลนคร

ทั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ และ ดร.วันดี ได้รับชมการแสดงฟ้อนรำพื้นบ้านของจังหวัดสกลนคร และเยี่ยมชมนิทรรศการผ้าไทยใส่ให้สนุกและบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน จากนั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถวายราชสักการะ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงสดุดีพระแม่ไทย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “สตรีไทยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางกระทรวงมหาดไทย” โดยกล่าวว่า พี่น้องชาวจังหวัดสกลนคร เป็นผู้ที่มีจิตใจที่งดงาม และมีความจงรักภักดีที่สุดจังหวัดหนึ่ง สำหรับโครงการนี้ พี่น้องที่เป็นผู้บริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดสกลนครและสมาชิก ก็ได้พร้อมใจกันมาพบปะพูดคุยกัน เพื่อที่จะสานต่อสิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระราชทานไว้ให้คนสกลนคร คือ การช่วยกันในการดูแลครอบครัวดูแลตำบล หมู่บ้าน ชุมชน ให้อยู่กันด้วยความสงบสุข มีความรักสามัคคี มีน้ำใจไมตรี บนพื้นฐานของการที่จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ ในปี 2565 ถือเป็นปีมหามงคลที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ซึ่งรัฐบาลได้เชิญชวนพี่น้องคนไทยร่วมกันเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วยการกระทำสิ่งที่ดีเพื่อเป็นปฏิบัติบูชาและขอให้ทำกันตลอดทั้งปี ทั้งนี้ แนวพระราชดำริเรื่องผ้าไทยที่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่นอกเหนือจากการทำไร่ ทำนา โดยจุดเริ่มต้นของการชุบชีวิตผ้าไทยเกิดขึ้นที่จังหวัดสกลนครแห่งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรัก ทรงห่วงใย ทรงผูกพัน และทรงมีความปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสกลนคร ที่อยากจะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับพี่น้องคนสกลนคร และพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชนของเราให้มีความเข้มแข็งให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน และปี 2565 นี้ก็ยังเป็นปีแรกที่รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม เป็น "วันผ้าไทยแห่งชาติ" เพื่อตอกย้ำในความรัก ความหวงแหนผ้าไทย ทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการทำไร่ ทำนา



นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่พระองค์ ไม่เพียงแค่การพยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่พระองค์ยังได้ทรงหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรักความเมตตา และหยิบยื่นเมล็ดพันธุ์ที่จะมาช่วยเหลือพวกเราอย่างต่อเนื่องต่อไป  ยิ่งไปกว่านั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงซึมซับเอาพระราชกรณียกิจที่งดงามของสมเด็จย่าของพระองค์มาเป็นต้นแบบของความรัก ความผูกพัน และความตั้งใจที่จะพัฒนางานด้านศิลปะและผ้าไทย และได้ทรงพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเราเหมือนที่สมเด็จย่าของพระองค์ได้ทรงปฏิบัติ และเกิดต้นแบบที่โด่งดังไปทั่วโลก คือ "ดอนกอยโมเดล" ที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดสกลนครแห่งนี้

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนจึงได้ขยายผลเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ 2 เรื่อง ที่ทั่วโลกให้การยอมรับคือ 1) การส่งเสริมให้ประชาชนรักษาสิ่งที่ดีงามในเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามไว้ และ 2) การสอนให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนสามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเองทำให้เกิดพัฒนาที่ยั่งยืนได้

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราต้องช่วยกันทำให้ลูกหลานได้ซึมซับ ได้รักและหวงแหน ประเพณีวัฒนธรรมความเป็นไทสกล ทั้งในเรื่องของกริยา มารยาท การแต่งกาย การพูดและช่วยกันเป็นต้นแบบให้คนในครอบครัวน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาปฏิบัติ คือ "การพึ่งพาตนเองด้านอาหาร" ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว สร้างความมั่นคงด้านอาหาร พระองค์ท่านทรงได้พระราชทานโครงการต่างๆ อาทิ โครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง โครงการทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน โครงการทหารพันธุ์ดี ฯลฯ ต่อมากรมการพัฒนาชุมชนได้นำมาสานต่อเกิดเป็นโครงการ "ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับ พช. เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
นอกจากนั้น สุดท้ายที่อยากฝากไว้ คือ การทำนุบำรุงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ขอให้พวกเราดูแลรักษาบ้านเรือนของเราให้สะอาด รวมไปถึงการบริหารจัดการขยะ เราต้องช่วยกันเป็นผู้นำให้ครัวเรือนของเราเป็นต้นแบบของการคัดแยกขยะ สิ่งแวดล้อมจะดีจะต้องเริ่มที่ครอบครัวเรานอกจากนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จำนวนกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีมองว่าเป็นเรื่องที่ดีและอยากให้เราช่วยกันรักษากองทุนฯ ไว้ให้กับลูกหลานต่อไปในอนาคต เพื่อยกระดับครอบครัว พัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมต่อไปได้


ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “สตรีไทยกับการขับเคลื่อนผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้มีพระราชดำริให้เกิดโครงการช่วยเหลือประชาชนต่าง ๆ มากมาย รวมถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงติดตามเสด็จ และทรงอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ส่งเสริมให้มีการทอผ้า และสามารถทำให้ผ้าไทยกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง ซึ่งในเวลาต่อมาได้ทรงก่อตั้งกลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เป็นกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร

อย่างไรก็ตาม เดิมทีนั้น การทอผ้าไทยเป็นอาชีพเสริมของประชาชน ที่ว่างเว้นจากการทำไร่ ทำนา จนถึงวันนี้การทอผ้าไทยกลับมาเป็นอาชีพหลักของประชาชนได้ สามารถทำให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอที่จะดูแลครอบครัวจนเราสามารถเรียกขานพระองค์ท่านได้ว่า เป็น "พระมารดาของผ้าไทย" พวกเราโชคดีเหลือเกินที่เกิดมาเป็นคนไทย จะเห็นได้ว่าผ้าไทยไม่ได้ถูกจำกัดไว้ในบางพื้นที่เท่านั้น แต่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งกว่าจะทำให้ผ้าไทยกลับมามีชีวิตที่สวยงามได้ในวันนี้ พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างหนัก เพราะผ้าไทยทุกผืนเปรียบดั่งลมหายใจของพระองค์ ที่ทำให้ทุกคนมีอาชีพ มีรายได้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เราชาวไทยจะตอบแทนได้ คือ การทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

"สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมีพระราชดํารัสแก่กลุ่มสตรี 4 ประการ คือ ประการที่ 1 ต้องหน้าที่แม่บ้านที่ดี ประการที่ 2 ต้องเป็นแม่ของลูก ประการที่ 3 ต้องรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของประเทศให้ยั่งยืน และประการที่ 4 ต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี เพื่อแสวงหาความรู้ สร้างช่องทางการตลาด โดยเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้เรามีความสะดวกหลายประการ วันนี้เชื่อมั่นว่าพลังของผู้นำกลุ่มสตรีทั้ง 18 อำเภอ จะเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง โดยจะยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของบ้านดอนกอย โดย แม่ถวิล อุปรีย์ ประธานกลุ่มผ้าย้อมคราม บ้านดอนกอย ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจฐานราก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และควรขยายผลบ้านดอนกอยโมเดลไปสู่ทุกชุมชนในจังหวัดสกลนครและทั่วประเทศ" ดร.วันดี กล่าว






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.