เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ชัชชาติ" พร้อมเปิด กทม. เน้นความโปร่งใส สร้างความมั่นใจและความหวังให้แก่นักลงทุน


24 ส.ค. 2565, 18:08



"ชัชชาติ" พร้อมเปิด กทม. เน้นความโปร่งใส สร้างความมั่นใจและความหวังให้แก่นักลงทุน




วันนี้ ( 24 ส.ค.65 ) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Reopening Bangkok ในงานสัมมนาผู้ลงทุนสถาบันระดับนานาชาติ “Thailand Focus 2022 : THE NEW HOPE” ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เขตปทุมวัน ว่า
    
วันนี้พูดเรื่อง Reopening Bangkok การเปิดเมือง ซึ่งถามว่าทำไมเราถึงปิด เราปิดเพราะโควิด ถามว่าตอนนี้พร้อมหรือไม่ พร้อมแน่นอน เพราะว่าจำนวนผู้ป่วยลดลง เตียงมีเหลือเพียงพอ ใช้เตียงไปแค่ 35% ยามีเพียงพอ อัตราการฉีดวัคซีนโดส 2 เกิน 100% และอัตรากลุ่ม 608 ที่ได้รับวัคซีนก็เกิน 50% แล้ว ทุกอย่างเราพร้อมที่จะเปิดเมือง

หน้าที่ของกทม.คืออะไร? ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หัวใจของกทม.คือต้องสร้างความมั่นใจคืนมาให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยต้องมีความร่วมมือที่เข้มแข็งกับภาคเอกชน กทม.เรามีทรัพยากรจำกัด เพราะเราได้งบประมาณแค่ประมาณ 2.6% เมื่อเทียบสัดส่วนกับงบประมาณของประเทศ แต่สัดส่วนประชากรของกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 12% ของประชากรทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น หน้าที่หลักของกทม. คือต้องมีความโปร่งใส ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า มีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกำหนดทิศทางของเมือง



"หน้าที่ของผู้ว่าฯ ไม่ใช่แค่เรื่องเก็บขยะ ล้างท่อ แต่ต้องดูเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญของเมือง อนาคตเราต้องดึงดูดธุรกิจที่ดี คนที่เก่งมาที่เมือง เพื่อสามารถสร้างงาน และสุดท้ายก็มีภาษีจ่ายคืนมาให้เมืองเอาไปพัฒนาต่อ ถ้าเมืองไม่มีเศรษฐกิจที่ดี ไม่มีคนจ่ายภาษี สุดท้ายเมืองก็ไปไม่รอด มันก็เป็นวงจรที่ต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

อะไรคือสิ่งที่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา
ผู้ว่าฯ กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าสนใจเพราะเป็นเมืองที่มีทั้ง High Tech และ High Touch  ในส่วนของ High Tech เรามีความก้าวหน้า มีสิ่งปลูกสร้าง มีสิ่งอำนวยความสะดวก  ส่วน High Touch เราก็มีศิลปวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน  จะเห็นได้ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนอยากมาเที่ยวมากที่สุดในโลก เพราะเรามีสิ่งที่น่าสนใจ มีเสน่ห์มากมาย นอกจากนั้นแล้ว เรายังมีค่าครองชีพที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับหลาย ๆ เมืองทั่วโลก Living Index เราไม่ได้สูงมาก เรามีโรงแรมจำนวนมากประมาณ 1.2 แสนห้อง ในกรุงเทพฯ เรามี office space ในอนาคตถึง 10 ล้านตารางเมตร ปัจจุบันเรามีอยู่ประมาณ 8 ล้านกว่า เรามี convention center (ศูนย์ประชุม) ขนาดใหญ่ สามารถรองรับอุตสาหกรรม MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) ซึ่งเชื่อว่าอนาคตกรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์กลางของธุรกิจในภูมิภาคได้

อุปสรรคคืออะไร
ผู้ว่าฯ กล่าวว่า อุปสรรคคือเรื่องความโปร่งใส ความมั่นใจ กฎระเบียบต่าง ๆ ที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ มากกว่าการเป็นภาระให้เขา เราต้องผิดชอบในส่วนของตัวเอง เราต้องเริ่มจากความโปร่งใส เราทำ Open Data ทำข้อมูลให้ชัด ปรับปรุงกระบวนการขอใบอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น ต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน เพิ่ม empower ให้ประชาชน ใช้แอปพลิเคชัน เช่น Traffy Fondue ให้ประชาชนรู้สึกว่ามีส่วนร่วม สร้างความหวังให้เขา นี่คือสิ่งสำคัญที่กทม.ต้องเร่งทำ 

หลาย ๆ อย่างเราทำเองไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มีความรู้เท่ากับผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เช่น ด้านธุรกิจ เราไม่ได้มีความรู้มากเท่ากับภาคเอกชน จึงต้องหาแนวร่วม โดยกทม.จะตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน กรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.) นำภาคเอกชนมาร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ชี้จุดอ่อนต่าง ๆ ว่าจะปรับปรุงตรงไหนได้บ้าง เพื่อให้การทำงานร่วมกันสะดวก อนาคตเราอยากจะให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของธุรกิจในภูมิภาค เพราะเรามีสิ่งดี ๆ มากมายที่จะสู้ได้ ดึงธุรกิจมาสร้างงานที่มีคุณภาพให้กับกรุงเทพฯ พอเรามีงานดี มีภาษีแล้ว เราก็สามารถสร้างคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสวัสดิการได้ สุดท้ายแล้วก็จะเป็นวงจรที่ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น


แนวทางการมอบอำนาจ (empower) ให้ประชาชน
ผู้ว่าฯ กล่าวว่า เราใช้โปรแกรม Traffy Fondue ให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุต่าง ๆ แจ้งปัญหาได้ แค่นี้เขาก็รู้สึกว่ามีอำนาจที่จะต่อเชื่อมกับผู้ว่าฯ ได้แล้ว ประชาชนเห็นปัญหา แจ้งเข้ามา เราแก้ไขได้เลย สิ่งนี้คือการ empower จากนี้ไปก็จะทำเรื่องการมีส่วนร่วมตั้งงบประมาณ คือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณมากขึ้น ให้เขาสามารถมีสิทธิมีเสียง  ขณะนี้กำลังฟอร์มสภาคนรุ่นใหม่ คือให้เด็กรุ่นใหม่ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่มีสิทธิมีเสียง มีโอกาสเข้ามาแสดงความเห็นมากขึ้น  มี Public Space หรือพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ ให้คนมาเจอกัน มี co-working space  ซึ่งสิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้จะสร้าง momentum ขนาดใหญ่ และเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

"ระยะเวลา 3 เดือน จะเห็นได้ว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรีในสวน หนังกลางแปลง ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่ในใจคนถือเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน การที่เราให้ความสำคัญ ให้คนเห็นคุณค่าของเมือง การมาร่วมกัน การไม่ได้ดูแต่จุดต่าง แต่ดูสิ่งที่เห็นเหมือนกัน ความร่วมมือร่วมใจขนาดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดี ผมเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในเมืองได้ โดยไม่ต้องใช้เงินมาก ฉะนั้น การเปลี่ยนเมืองไม่ต้องใช้เงินเป็นเมกะโปรเจกต์อะไร ขอแค่มีความร่วมมือร่วมใจ ผมว่าสิ่งต่าง ๆ มันจะเริ่มดีขึ้นได้" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

บทบาท กทม. ในตลาดทุน
ผู้ว่าฯ กล่าวว่า ตลาดทุนต้องมีนักลงทุนที่มีคุณภาพ มีบริษัทที่ดี บทบาท กทม. ในตลาดทุน ก็คือเรื่อง "ความโปร่งใส" และกทม.ต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่เป็นผู้สร้างภาระให้กับบริษัท กระบวนการขอใบอนุญาต การเก็บภาษีต่าง ๆ จะต้องมีความโปร่งใส สร้างความมั่นใจให้คืนมา 

"จริง ๆ แล้ว เราเพิ่งเลือกตั้งกันมา นอกจากบทบาทในการดูแลกทม.แล้ว เราต้องเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจความไว้ใจกลับคืนมาให้กับระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพื่อให้รู้ว่าการเลือกตั้งสามารถส่งผลที่เปลี่ยนชีวิตเขาให้ดีขึ้นได้ ถ้าเราทำงานได้ดี สภากทม.ทำงานได้ดี ทีมผู้ว่าฯ กทม.ทำงานได้ดี นอกจากคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ จะดีขึ้นแล้ว ทั้งประเทศก็จะเห็นเลยว่าระบบประชาธิปไตยยังมีพลังอยู่ ยังเป็นระบบที่เราเชื่อมั่นได้ว่าสุดท้ายจะสามารถให้คำตอบที่ดีกับเมืองและประเทศได้ รวมถึงยังมีความหวังได้ ซึ่งก็จะมีผลกับตลาดทุนด้วย" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.