ปภ. เร่งคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วม 16 จังหวัด ประสานจังหวัดดูแลประชาชน
12 ก.ย. 2565, 11:42
วันที่ 12 ก.ย. 65 เวลา 10.30 น. ปภ.รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมใน 31 จังหวัด รวม 72 อำเภอ 139 ตำบล 487 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 56,469 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 13 จังหวัด ได้แก่ พะเยา น่าน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ปทุมธานี สมุทรปราการ ระยอง และจันทบุรี รวม 28 อำเภอ 58 ตำบล 183 หมู่บ้าน ขณะที่ผลกระทบจากพายุหมาอ๊อน (MAON) และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี รวม 12 อำเภอ 112 ตำบล 606 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานจังหวัดดูแลผู้ประสบภัย และระดมกำลังเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ โดยตั้งแต่วันที่ 4 - 12 ก.ย. 65 ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 31 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อุทัยธานี ปทุมธานี นนทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และตรัง รวม 72 อำเภอ 139 ตำบล 487 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 56,469 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 13 จังหวัด รวม 28 อำเภอ 58 ตำบล 183 หมู่บ้าน ดังนี้
- พะเยา เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูกามยาว อำเภอเมืองพะเยา และอำเภอแม่ใจ รวม 4 ตำบล 19 หมู่บ้าน
- น่าน เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย รวม 2 หมู่บ้าน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
- เชียงใหม่ เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอยหล่อ อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอสะเมิง อำเภอสันป่าตอง และอำเภอแม่วาง รวม 13 ตำบล 21 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 10 หลังคาเรือน
- ลำพูน เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอเวียงหนองล่อง รวม 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน
- ลำปาง เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา รวม 2 หมู่บ้าน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
- เพชรบูรณ์ เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ตำบลสระกรวด อำเภอศรีเทพ ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
- กาฬสินธุ์ เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ตำบลลำชี อำเภอฆ้องชัย ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
- ขอนแก่น เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองสองห้อง และอำเภอมัญจาคีรี รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 10 หลังคาเรือน
- หนองบัวลำภู เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ตำบลหัวนา อำเภอเมืองหนองบัวลำภู บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 3 หลังคาเรือน
- ปทุมธานี เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอคลองหลวง รวม 4 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 55,165 ครัวเรือน
- สมุทรปราการ เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอบางบ่อ ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
- ระยอง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอแกลง รวม 3 ตำบล 18 หมู่บ้าน
- จันทบุรี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาคิชฌกูฎ อำเภอท่าใหม่ อำเภอนายายอาม อำเภอแก่งหางแมว และอำเภอมะขาม รวม 19 ตำบล 101 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 873 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมทุกพื้นที่ระดับน้ำลดลง
ขณะที่ผลกระทบจากพายุหมาอ๊อน (MAON) และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยสถานการณ์ล่าสุดในวันที่ 12 ก.ย. 65 ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี รวม 12 อำเภอ 112 ตำบล 606 หมู่บ้าน ดังนี้
- อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ รวม 3 ตำบล 13 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 133 ครัวเรือน
- พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะหัน อำเภอบางปะอิน และอำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 85 ตำบล 506 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,554 ครัวเรือน
- อ่างทอง น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอป่าโมก รวม 3 ตำบล 23 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 632 ครัวเรือน
- ปทุมธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก รวม 21 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,926 ครัวเรือน
ปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมทุกพื้นที่ระดับน้ำลดลง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง และจะได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับ แจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”