มท.1 แจงแผนจัดการอุทกภัย เผยปริมาณน้ำในเขื่อนยังรองรับได้ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย
12 ก.ย. 2565, 15:38
วันนี้ ( 12 ก.ย.65 ) เวลา 10.30 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าตอบกระทู้คำถามด้วยวาจา ของ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ สมาชิกวุฒิสภา ผู้ตั้งกระทู้ถาม ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 30 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ประเด็นเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการในการจัดการอุทกภัยของประเทศไทย โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน ณ อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา สภาพฝนในปีนี้จะมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งปกติปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 1,500 มิลลิเมตรต่อปี แต่ปีนี้สูงกว่าเกณฑ์ปกติประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์ โดยปกติแล้วประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลพายุโซนร้อน (Tropical Storm) ประมาณปีละ 2-3 ครั้ง ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ที่ผ่านมาได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่าน ทั้งภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกตอนบน ภาคกลางตอนบน ร่วมกับอิทธิพลของมรสุมจากตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทยเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ รวมทั้งมีคลื่นลมฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยด้วย สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้ทั้งหมดยังมีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการของรัฐบาล ได้มีการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ปี 2565 รวมถึงได้มีการวางแผนการรับมือน้ำแล้งและน้ำท่วม โดยนำปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นกรอบแนวทาง กำหนดมาตรการรับมือฤดูฝน 13 มาตรการ ทั้งก่อนช่วงฤดูฝน ช่วงระหว่างฤดูฝน และช่วงสิ้นสุดฤดูฝน และมีแผนปฏิบัติการย่อย อาทิ การเตรียมการรับมืออุทกภัย การบริหารจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูก การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมไว้รองรับกรณีเกิดสถานการณ์ ซึ่งมาตรการทั้ง 13 มาตรการจะเป็นกรอบใหญ่ของการบริหารจัดการทั้ง การคาดการณ์พื้นที่เป้าหมายเสี่ยง การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ การซ่อมแซมปรับปรุงอาคาร การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ การขุดลอกคูคลอง เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะเป็นกรอบปฏิบัติการที่ให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปดำเนินการตามงบประมาณและตามยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำของประเทศแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ 1) สถานการณ์น้ำที่เกิดจากฝนตกหนัก มีปริมาณความเข้มข้นสูง มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะน้ำไหลหลากรุนแรง และหากตกติดต่อกันเป็นเวลานานก็จะมีความเสี่ยงทำให้เกิดดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ลุ่มหากระบายลงสู่คลองหรือทะเลไม่ทันก็จะมีน้ำท่วมขัง และ 2) สถานการณ์น้ำที่เกิดจากการระบายน้ำทั้งหมดหรือน้ำท่า (Side Flow) โดยหากพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากทั้ง 2 สถานการณ์ก็จะเกิดน้ำท่วมขังบริเวณริมฝั่งแม่น้ำได้ ซึ่งในเดือน กันยายน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว 31 จังหวัด โดยในขณะนี้เหลือพื้นที่เกิดสถานการณ์อยู่ 13 จังหวัด ภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา น่าน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และหนองบัวลำภู ภาคกลาง ได้แก่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง และจันทบุรี โดยในภาพรวมขณะนี้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนของประเทศไทยยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ ซึ่งการปล่อยน้ำจากเขื่อนจะเป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ในแต่ละช่วงเวลาไม่ให้เกิดสภาพน้ำล้นอ่างและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน รวมถึงให้พื้นที่ใต้เขื่อนสามารถนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภคได้
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริมว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานคร ได้ออกแบบผังเมืองด้วย "ระบบโพลเดอร์" หรือ "Polder System" คือ การป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และรับผิดชอบการระบายน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น สำหรับการระบายน้ำที่ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถรับความจุลำน้ำได้ไม่เกิน 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะนี้ที่จุดควบคุมสถานีวัดน้ำบางไทร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำยังไม่เกินความจุลำน้ำ ดังนั้น ขณะนี้ยังสามารถบริหารจัดการน้ำได้ อย่างไรก็ตาม ก็จะเร่งระบายน้ำเพื่อให้เตรียมรับน้ำได้ ถ้าหากเกิดสถานการณ์น้ำในอนาคต และเขื่อนต่าง ๆ ก็ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อยู่ และสำหรับสถานการณ์ที่จังหวัดปทุมธานี ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากทั้งสถานการณ์น้ำที่เกิดจากฝนตกหนักและสถานการณ์น้ำที่เกิดจากการระบายน้ำ ทำให้การระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีไม่สามารถระบายได้ทัน ซึ่งขณะนี้ได้ประสานกรมชลประทานเร่งแก้ไข และไม่ให้ระบายน้ำผ่านคลองรังสิต เพื่อให้ฝนที่ตกในพื้นที่รังสิตสามารถไหลลงคลองรังสิตได้
“กล่าวโดยสรุป คือ สถานการณ์โดยรวมในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนเข้ามาโดยตรง แต่คาดว่ามีโอกาสที่จะพบได้ประมาณ 1-2 ครั้ง ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่เหนือเขื่อน ยังมีพื้นที่ในการรองรับน้ำได้ แต่ถ้าตกในพื้นที่ระหว่างเขื่อน ก็จะเร่งรัดการระบายน้ำทำให้รองรับสถานการณ์ได้ แต่ถ้าตกในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหนักมากก็จะต้องแก้ปัญหาด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือน การพยากรณ์อากาศ การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน การประมาณการพื้นที่กักเก็บน้ำ และแจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์ก็จะมีการเตรียมมาตรการป้องกัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีการจะปฏิบัติการตามแผนและมีงบประมาณจากรัฐบาลที่จะใช้ในการป้องกัน แจ้งเตือน ไปจนถึงการเตรียมการพื้นที่อพยพพักพิงให้กับประชาชน โดยจะบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงฝ่ายความมั่นคง เครือข่ายภาคประชาชน ภาคเอกชนซึ่งมีความเข้มแข็งมากพร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลือเพียงพอในการรองรับสถานการณ์ได้” - พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวทิ้งท้าย