เปิดตำนาน "กัญชานครพนมต้นแรก" นักวิชาการอบรมสายเขียวสกัดสาร CBD รองรับเปิดเสรี (มีคลิป)
21 ก.ย. 2562, 16:38
วันที่ 21 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ห้องประชุมโรงแรมไอโฮเทล บ้านหนองจันทร์ ต.ท่าค้อ อ.เมือง จ.นครพนม สำนักงานสภาเกษตรจังหวัดนครพนมร่วมกับกลุ่มนักวิชาการนำโดย รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ (อาจารย์อ๊อด) อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง เทคนิคการสกัดสาร CBD บริสุทธิ์จากกัญชงและกัญชา (โดยไม่ใช้กัญชาและกัญชงในการฝึกอบรม) เพื่อให้ความรู้เรื่องการสกัดและการตรวจประเมินด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แก่ผู้สนใจจากทั่วประเทศซึ่งประกอบไปด้วยนักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน มีผู้ให้ความสนใจ เดินทางมาจากหลายจังหวัดเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
ในการฝึกอบรมครั้งนี้มีการบรรยายเรื่อง การปลูกและการจัดการแปลงกัญชาแบบประณีต โดยอาจารย์คำตา ราชมณี ผู้ทรงคุณวุฒิ และการใช้กัญชาในตำรับยาสมุนไพรไทย โดยนายสอย เพชรฤทธิ์ หมอสมุนไพรดีเด่นของจังหวัดนครพนม
ส่วนวิธีการสกัด CBD บริสุทธิ์ รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัยฯ กล่าวว่า ในการฝึกอบรมครั้งนี้ เน้นให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ภาคทฤษฎีและปฏิบัติที่เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการสกัดอย่างง่าย สำหรับบุคลทั่วไปที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้สามารถเข้าถึงการสกัดที่ปลอดภัยและถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้สารกลุ่ม CBD บริสุทธิ์ที่สอดคล้องกับกฎหมายในปัจจุบัน สามารถนำไปต่อยอดเพื่อใช้เป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้
นายคำตา ราชมณี เผยประวัติถึงกัญชาต้นแรกที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยย้อนกลับไปประมาณ 130 ปี มีนายก้อน ป้องหลักคำ อาชีพนายฮ้อยขายวัวควาย เดินทางไปยังแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ได้นำเมล็ดพืชมาปลูกในที่ดิน ณ บ้านต้าย หมู่ 4 ต.โพนจาน อ.โพนสวรรค์ ซึ่งนายฮ้อยก้อนเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลุ่มชาวเขาเผ่าม้งใช้สำหรับบำบัดรักษาโรค กว่าจะได้เมล็ดพันธุ์มาต้องทำหน้าที่หาเหาให้หัวหน้าเผ่า จึงได้เมล็ดกัญชามา 3 เมล็ด หลังต้นกัญชาเจริญพันธุ์ก็นำมาสูบ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาโรค และปรุงอาหารเท่านั้น แต่ด้วยความพิเศษมีชาวบ้านขอเมล็ดไปขยายพันธุ์ พร้อมกับชื่อเสียงของบ้านต้ายดังกระหึ่ม จนขยับเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชา ภายหลังถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาเสพติด กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ต้นกัญชาถูกทางการบุกทลายตัดทิ้งจนเหียนเตียน
“ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในความรู้สึกต่อกัญชา ในห้วง 1 ปีเศษ ผมได้เฝ้ามองการพัฒนาของผู้ปลูก ผู้ใช้ในการดูแลรักษาตัวเอง จนเกิดนโยบายในการหาเสียงของพรรคการเมือง จึงมีการตื่นตัวของประชาชน แม้แต่ชาวบ้านต้ายที่เคยเลิกปลูกมามากกว่า 50 ปี ก็ยังคิดจะหันมาปลูกกัญชาขายอีกครั้ง”
นายคำตากล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ ยังมีความกังวลเรื่องสารปนเปื้อน ทั้งที่ยังไม่มีการปลูกในที่ใดของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแบบปิด แบบเปิด หรือแบบโรงเรือน รวมทั้งวิธีการของแผนไทย แผนปัจจุบัน หากเปิดโอกาสให้ภูมิปัญญาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ดั้งเดิม(ขี้วัว ขี้ควาย ขี้ไก่) รวมถึงวิธีการป้องกันแมลง โดยตรวจสอบสาร CBD และสาร THC ก็จะทำให้เป็นการฟื้นฟูพืชกัญชาเป็นส่วนผสมอาหารที่ถูกวิธี ใช้ดอกที่มีคุณภาพ ก็ยิ่งจะทำให้การดูแลรักษาชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ก็เป็นการพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวมได้อย่างยั่งยืน