สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกับผู้ว่าฯศรีสะเกษ ลงนามในบันทึกความร่วมมือเรื่องการดำเนินงานและบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉิน
24 ก.ย. 2565, 05:14
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลผลิตภัณฑ์ (OTOP) องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือ เรื่อง การดำเนินงานและบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉิน
ระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กับ จังหวัดศรีสะเกษ อบจ.ศรีสะเกษ สสจ.ศรีสะเกษ รพ.ศรีสะเกษ ตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ อปท.ทุกแห่ง และเครือข่ายมูลนิธิจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่ง อบจ.ศรีสะเกษ ได้จัดพิธีนี้ขึ้น โดยมีผู้มาร่วมลงนามคือ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ เรืออากาศเอกอัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พ.ต.อ.ดนัย รัตนประเสริฐ รอง ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์ สสจ.ศรีสะเกษ นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.รพ.ศรีสะเกษ โดยมี นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงานและร่วมลงนาม มีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการและพนักงานในสังกัด อบจ.ศรีสะเกษ มาร่วมพิธีและให้การต้อนรับ
นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า อบจ.ศรีสะเกษ ได้รับการถ่ายโอนภารกิจศูนย์รับแจ้งเหตุและจ่ายงานการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดศรีสะเกษจาก รพ.ศรีสะเกษ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานและบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉิน ตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ปัจจุบันศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัด ที่ได้รับถ่ายโอนมาได้รับการรับรองและอนุมัติการขึ้นทะเบียนเป็น "หน่วยปฏิบัติการอำนวยการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดศรีสะเกษ" มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยปฏิบัติการ จำนวนทั้งสิ้น 21 คน มีรถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 2 คัน ชุดปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการนี้เป็น "ชุดปฏิบัติการระดับสูง (ALS)" มีเขตพื้นที่ปฏิบัติการในความรับผิดชอบอยู่ในเขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ อบจ.ศรีสะเกษ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งจะทำให้ชุดปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาล อันจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน โดยได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น จึงได้ร่วมกับ สพฉ. จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น โดยบทบาทหน้าที่ของ อบจ.ศรีสะเกษภายใต้บันทึกข้อตกลงร่วมในครั้งนี้คือ 1.จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการอำนวยการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดศรีสะเกษ (ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดศรีสะเกษ) สถานที่ ณ อบจ.ศรีสะเกษ 2.จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับสูง (Advance Life Support Unit : ALS) อบจ.ศรีสะเกษ 3.จัดหารถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ตามมาตรฐานที่ กำหนดเพื่อสนับสนุนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับอำเภอ และระดับตำบล ที่ร่วมทำบันทึกข้อตกลงนี้และมีความพร้อมในการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินหรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกำหนดให้และเพียงพอต่อการจัดระบบบริการการแพทย์
เรืออากาศเอกอัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกัน อันจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน โดยได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น ประกอบกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้พัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้เป็นระบบดิจิทัล และ อบจ.ศรีสะเกษ เป็นหนึ่งใน 15 จังหวัดที่เป็นจังหวัดนำร่องในเรื่องนี้ โดย อบจ.ศรีสะเกษได้ดำเนินการบริหารจัดการจัดตั้งเป็นหน่วยปฏิบัติการอำนวยการระดับพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา และได้ประสานความร่วมมือกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สสจ.ศรีสะเกษ รพ.ศรีสะเกษ และเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและเป็นต้นแบบให้กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่นๆ ต่อไป