ก.วัฒนธรรม จัดทำจดหมายเหตุการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย บันทึกเหตุการณ์สำคัญ-ความร่วมมือร่วมใจของคนไทย
24 ก.ย. 2565, 10:28
วันนี้(24 ก.ย. 65) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด19 หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 65 ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กระทรวงวัฒนธรรมได้รายงานถึงความคืบหน้าการจัดทำจดหมายเหตุการแพร่ระบาดโควิด19 ในประเทศไทย ซึ่งได้บันทึกลำดับเหตุการณ์สำคัญ นโยบาย ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และเป็นองค์ความรู้และการดูแลจัดการกรณีเกิดสถานการณ์ลักษณะเดียวกันขึ้นในอนาคต
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า คณะทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมได้รวบรวม สืบค้นข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 - 31 ก.ค. 65 จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ประกอบด้วย แหล่งข้อมูลหนังสือพิมพ์ออนไลน์ จำนวน 11,574 แฟ้ม, เอกสารดิจิทัลจากเว็บไซต์หน่วยงาน จำนวน 12,858 แฟ้ม, ขอข้อมูลเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดับกระทรวงและจังหวัดจำนวน 30 หน่วยงาน รวมเอกสาร 13,108 รายการ, เอกสารจากผู้ว่าราชการ 73 จังหวัด รวม 1,839 รายการ และ รวบรวมภาพถ่ายจากเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้อง 2,734 รายการ
ทั้งหมดจะถูกรียบเรียงเป็นเนื้อหาซึ่งมีเค้าโครงเบื้องต้น ดังนี้
1) ความเป็นมาของโรคโควิด19 ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการ การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ
2) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งนำเสนอทั้งผลกระทบด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม วัฒนธรรมตลอดจนการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (new normal)
3) การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด19 นำเสนอในมิติการบริหารจัดการ การป้องกัน การกำหนดมาตรการ แก้ไข เยียวยา ฟื้นฟูทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการผ่านมาตรการสำคัญต่างๆ
4) ลำดับเหตุการณ์สำคัญ นำเสนอการแพร่ระบาดในแต่ละระลอก
5) สรุปบทเรียนประเทศจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19
"ท่านรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานในที่ประชุม ศบค. ได้มีข้อสั่งการให้คณะทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาเพิ่มเนื้อหาในส่วนที่สะท้อนถึงความร่วมมือของคนไทย ทั้งการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เป็นการบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังเห็นว่าด้วยความร่วมมือของคนไทยประเทศจึงสามารถผ่านวิกฤตครั้งใหญ่นี้มาได้" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่าการเรียบเรียงเนื้อหาชั้นแรกจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 65 จากนั้นจะมีการปรับแก้เค้าโครงและเนื้อหาให้สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการและเอกสารที่ได้รับ ต่อด้วยการตรวจแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิตามขั้นตอนเสร็จสิ้นภายในมิ.ย. 66 จากนั้นดำเนินการตามขั้นตอนทางทะเบียนเพื่อนำเข้าระบบเอกสารจดหมายเหตุของประเทศต่อไป