"กรมชลประทาน" แจ้งเตือน! พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ใกล้เต็มความจุอ่างฯ
1 ต.ค. 2565, 14:15
วันที่ 1 ต.ค. 65 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า อิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในระยะครึ่งแรกของช่วง ก่อนจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในช่วงวันที่ 26-27 กันยายน 2565 เข้าสู่ไต้ฝุ่น “โนรู (NORU, 2216)” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ซึ่งได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนาม ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 กันยายน 2565 จากนั้นได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกแล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน ก่อนเคลื่อนเข้าสู่บริเวณแขวงเซกอง ประเทศลาว ในช่วงสายของวันเดียวกัน และเคลื่อนผ่านเข้าสู่ประเทศไทย บริเวณอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเวลา 17.00 น. ของวันที่ 28 กันยายน 2565 จากนั้นได้อ่อนกำลงเป็นพายุดีเปรสชั่น เมื่อเวลา 18.00 น. แล้วเคลื่อนตัวผ่านจังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ตามลำดับ ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เมื่อเวลา 19.00 น. ของวันที่ 29 กันยายน 2565 ส่งผลให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกเป็นบริเวณกว้างเกือบตลอดช่วงกับมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ นั้น
กรมชลประทาน ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะเกิดจากปริมาณฝน ตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จะมีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในช่วงวันที่ 30 กันยายน ถึง 6 ตุลาคม 2565 รวมประมาณ 824 ล้านลูกบาศก์เมตร และวันที่ 7 ตุลาคม 2565 คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีจำนวน 1,139 ล้านลูกบาศก์เมตร มีแนวโน้มที่จะเกินความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม กรมชลประทาน จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตรา 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสักแล้ว จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอัตราไม่เกิน 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.20-1.50 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.25-0.50 เมตร
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลประกอบการแจ้งเตือนในเบื้องต้นให้กับบริษัทห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำป่าสัก อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย