"พระอาจารย์บุญมี" วอน! ช่วยชีวิตปลาในเขตอภัยทานด่วน หลังพบวัชพืชเพียบ หวั่นปลาขาดอากาศหายใจ
3 ต.ค. 2565, 21:18
เมื่อวันที่ 3 ต.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อุทยานการเรียนรู้ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เขตอภัยทานเฉลิมพระเกียรติฝายน้ำล้นหนองเข็งน้อยห้วยคล้า บ้านหนองเข็งน้อย หมู่ที่ 10 ต.กฤษณา อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ พระอาจารย์บุญมี เตชะธัมโม เจ้าอาวาสวัดป่าหนองม่วง ตำบลหนองครก อำเภอเมืองศรีสะเกษ ผู้นำทางจิตวิญญาณในการพัฒนา พร้อมด้วย นายทิวา รุ้งแก้ว ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ (คปศ.) นายวันชัย ศรีบุญเรือง นายก อบต.กฤษณา อ.ขุขันธ์ นายพนม ศรีบุญเรือง ประธานชมรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยคล้าน้องเข็งน้อย นายสุพิน ศรีบุญเรือง ผญบ.หนองเข็งน้อย หมู่ 10 ต.กฤษณา นายเด่นนคร สมิงทอง ผญบ.หนองเข็งน้อยตะวันตกหมู่ 12 ต.กฤษณา ได้นำชาวบ้านหนองเข็งน้อยหมู่ที่ 10 ชาวบ้านน้องเข็งน้อย ตะวันตกหมู่ที่ 12 จำนวน 50 คน มาช่วยกันทำการกำจัดวัชพืชให้ไหลลงไปทางใต้ฝายน้ำล้น เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมได้ทำให้มีวัชพืชผักตบชวาจำนวนมากไหลลงมาตามกระแสน้ำมาลอยเต็มบริเวณเขตอภัยทานเฉลิมพระเกียรติฝายน้ำล้นหนองเข็งน้อยห้วยคล้า บ้านหนองเข็งน้อย ทำให้ปลาไม่มีอากาศหายใจอาจจะทำให้ปลาทั้งหมดตายได้
พระอาจารย์บุญมี เตชะธัมโม เจ้าอาวาสวัดป่าหนองม่วง กล่าวว่า อิทธิพลจากพายุโนรูทำให้วัชพืชจาก ต.สะเดาใหญ่ ต.ตะเคียน ต.หัวเสือ ต.สำโรงตาเจ็น ไหลทะลักมาที่ฝายน้ำล้นหนองเข็งน้อยเพียงแห่งเดียว ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้จะทำให้คันดินของฝายน้ำล้นหนองเข็งน้อยอาจจะพังทลายลงมา ปลาจำนวนมากในเขตอภัยทานอาจจะตายทั้งหมดเพราะไม่มีอากาศหายใจ ชาวบ้านตำบลกฤษณา โดยเฉพาะชาวบ้านหนองเข็งน้อยหมู่ที่ 10 ชาวบ้านหนองเข็งน้อย ตะวันตกหมู่ที่ 12 จึงได้ร่วมกันออกมาทำลายวัชพืช ให้ไหลลงไปทางใต้ฝายน้ำล้น โดยได้ทำการร้องขอรถแม็คโครของชุมชนจำนวน 2 คัน พร้อมรถดั้ม 6 คัน โดยชาวบ้านขอบริจาคหลังคาละ 20 บาท 30 บาท เพื่อเป็นค่าน้ำมัน และ จ้างรถดั้มจำนวน 6 คัน มาช่วยขนวัชพืช โดยชุมชนช่วยค่าน้ำมัน เที่ยวละ 50 บาท เพื่อชะลอพังการพังทลายของสันเขื่อน ช่วยชีวิตปลา จึงขอวอนภาครัฐ ได้หาทางช่วยเหลือโดยด่วนต่อไปด้วย
ทางด้าน นายพนม ศรีบุญเรือง ประธานชมรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมน้องเข็งน้อย ได้กล่าวว่า ฝายน้ำล้นหนองเข็งน้อย มีพื้นที่ทั้งหมด 700 ไร่ ได้ประกาศเป็นเขตอภัยทานเฉลิมพระเกียรติต้นแบบของ จ.ศรีสะเกษ จำนวน 99 ไร่ ตั้งแต่ปี 2548 ต่อมาเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดศรีสะเกษ ได้ประกาศเป็นอุทยานการเรียนรู้ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คิด ทำ นำ เปลี่ยน ชาวบ้านได้ปล่อยสัตว์น้ำลงสู่อุทยานการเรียนศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ฝายน้ำล้นหนองเข็งน้อยห้วยคล้าทุกปี เขตอภัยทานฝายน้ำล้นหนองเข็งน้อยจึงเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์สัตว์น้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของลำห้วยคล้า ซึ่งยาวประมาณ 40 กิโลเมตรไหลผ่าน ต.ห้วยเหนือ ต.ดองกำเม็ด ต.ตะเคียน ต.สะเดาใหญ่ ต.กฤษณา ต.สำโรงตาเจ็น อ.ขุขันธ์ ไหลลงสู่ อ.วังหิน ที่ ต.ศรีสำราญ ต.วังหิน ต.โพนยาง ต.บุสูง ต.ธาตุ ต.ทุ่งสว่าง ต.ดวนใหญ่ ต.บ่อแก้ว แล้วไหลลงสู่ห้วยสําราญ ที่ ต.หมากเขียบ อ.เมืองศรีสะเกษ ลำห้วยคล้ามีลักษณะพิเศษ คือเป็นลำห้วยที่มีแก้มลิงมากที่สุด ถ้าได้รับการขุดลอกตลอดลำห้วยจะช่วยบรรเทาภาวะน้ำท่วม ฝนแล้งซ้ำซากได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 ชลประทานจังหวัดศรีสะเกษได้รับงบประมาณขุดลอก ที่ ต.ศรีสำราญ ตำบล 85 ล้านบาท ความยาวประมาณ ๕ กม. จึงขอวิงวอนให้ส่วนราชการ จ.ศรีสะเกษ ได้เข้ามาช่วยทำลายวัชพืชที่บริเวณฝายน้ำล้นหนองเข็งน้อยห้วยคล้าโดยด่วนด้วย