นายกฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.ขอนแก่น กำชับทุกหน่วยงานเร่งระบายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนปชช.โดยเร็ว
4 ต.ค. 2565, 13:36
วันนี้ (4 ตุลาคม 2565) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมหงส์ยนตร์ อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หลังจากจังหวัดขอนแก่นเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุโนรู ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัย น้ำไหลหลาก น้ำท่วมขัง จนประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป ว่า ได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด โดยได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งแก้ปัญหาการระบายน้ำ นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลจะดูแลจัดสรรโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจัดงบประมาณ/แผนงาน โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลุ่มน้ำชี 1. งบบูรณาการตาม พรบ.ปี 65 ลุ่มน้ำชี มีแผนงาน/โครงการ ภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 193 โครงการ 2. งบบูรณาการตาม พรบ. ปี 66 ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 578 โครงการ 3. โครงการสำคัญ ปี 66-67 จำนวน 78 โครงการ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการร่วมกัน โดยได้กำหนดแผนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งสำรวจดูแลความเดือดร้อน เพื่อลดและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด รวมทั้งเร่งระบายน้ำให้เร็วขึ้น เพื่อลดความเสียหายให้กับประชาชน และมีระบบการแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมความพร้อมให้ทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ในส่วนของบริเวณจุดที่มีความเสียหายที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก จะต้องแก้ไขปัญหาระบายน้ำทันที หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นจะต้องมีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนรับรู้สถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์และเตรียมตัวอพยพ รวมทั้งจะต้องมีการจัดหาสถานที่พักชั่วคราวให้ประชาชนอย่างเหมาะสมและปลอดภัย อีกทั้งขอให้เน้นการเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเส้นทางระบายน้ำเดิมที่มีสิ่งกีดขวางทำให้การระบายน้ำได้ไม่เต็มที่ต้องดำเนินการแก้ไข พร้อมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจตรวจสอบประตูระบายน้ำไม่ให้เกิดการชำรุดเสียหาย และให้ซ่อมบำรุงให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น อาทิ โครงการแก้มลิง แผนรองรับปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝน โดยขอให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม ทั้งแผนหลัก แผนสำรอง เพื่อรองรับและแก้ปัญหาในอนาคตด้วย โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำให้สมบูรณ์ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายกรัฐมนตรีขอความร่วมมือให้ทุกคนเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีใครต้องการให้เกิด ยืนยันว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการแก้ปัญหาเพื่อลดความเสียหาย และลดความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคน พร้อมขอความร่วมมือไปยังภาคธุรกิจ เอกชน และประชาชนทุกภาคส่วนในการร่วมกันทำงานกับภาครัฐ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ โดยแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เตรียมแผนบริหารจัดการโดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เศรษฐกิจด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้กองทัพ หน่วยทหาร บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนช่วยเหลือประชาชน ให้ปลอดภัย และคลี่คลายสถานการณ์ตามแผนการช่วยเหลือ และจัดกำลังทหารสนับสนุนส่วนราชการท้องถิ่นดูแลประชาชนที่ศูนย์อพยพชั่วคราว เพื่อดูแลประชาชนให้ปลอดภัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ช่วยขนย้ายคนและสิ่งของจำเป็นไปยังพื้นที่ปลอดภัย ช่วยรับส่งประชาชน ก่อกระสอบทรายทำแนวกั้นน้ำ รวมทั้งร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ มอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัย และปรุงอาหารสดแจกจ่ายประชาชน ตลอดจนซ่อมแซมและเชื่อมต่อเส้นทางการสัญจรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับดำแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลุ่มน้ำชี ดังนี้
1. งบบูรณาการ ตาม พรบ. ปี 65 ลุ่มน้ำชี มีแผนงานโครงการ ภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 193 โครงการ งบประมาณ จำนวน 4,631.72 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด ผลสัมฤทธิ์พื้นที่ชลประทานรับประโยชน์ 65,997 ไร่ มีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 25,690 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 43.40 ล้านลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 41,642 ครัวเรือน มีตัวอย่างโครงการ เช่น (1) แก้มลิง 3 แห่ง จังหวัดขอนแก่น วงเงิน 156.1555 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์ พื้นที่ชลประทานรับประโยชน์ 900 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 0.94 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนรับประโยชน์ 390 ครัวเรือน (2) น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 4 แห่ง ที่จังหวัดขอนแก่น วงเงิน 12.7892 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์พื้นที่รับประโยชน์ 480 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 0.19 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนรับประโยชน์ 34 ครัวเรือน (3) ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม 2 แห่ง ที่ชุมชนเมืองขอนแก่น ชุมชนบ้านไผ่ วงเงิน 132.6667 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์พื้นที่รับประโยชน์ 1,263 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 1,990 ครัวเรือน (4) อาคารบังคับน้ำ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี วงเงิน 15.0000 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์พื้นที่รับประโยชน์ 300 ไร่
2. งบบูรณาการ ตาม พรบ. ปี 66 ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 578 โครงการ วงเงิน 4,919.9712 ล้านบาท เมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว สามารถเพิ่มความจุกักเก็บ 5.66 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 48,932 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 40,285 ครัวเรือนพื้นที่ได้รับการป้องกัน 40,152 ไร่ มีหน่วยงานดำเนินการ 9 หน่วยงาน ครอบคุลมพื้นที่ 12 จังหวัด โดยมีตัวอย่างโครงการ เช่น (1) สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านหว้า ต.บ้านโคก อ.หนองนาคำ จ.ขอนแก่น วงเงิน 50.00 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 1,300 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 200 ครัวเรือน (2) ฝายบ้านคำบอน ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น วงเงิน 29.00 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 300 ครัวเรือน (3) ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนภูเขียว ต.ผักปัง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ วงเงิน 36.00 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 5,522 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 2,481 ไร่ (4) ประตูระบายน้ำเชิญ บ้านโนนเจดีย์ ต.โคกสะอาด อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ วงเงิน 100.00 ล้านบาท พื้นที่ได้รับการป้องกัน 6,000 ไร่ (5) ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบท่อจ่ายน้ำ กปภ.สาขากาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ วงเงิน 18.00 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 1,250 ครัวเรือน (6) ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนโดกพระ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม วงเงิน 40.00 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 3,691 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 1,994 ไร่ (7) ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองร้อยเอ็ด ระยะที่ 1 วงเงิน 40.00 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 3,365 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 1,725 ไร่ (8) ประตูระบายน้ำกุดเม่ ต.พลับพลา อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด วงเงิน 50.00 ล้านบาท พื้นที่ได้รับการป้องกัน 7,500 ไร่ (9) สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านแก้งโพธิ์ ต.ล้อทอง อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี วงเงิน 113.00 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 2,800 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 230 ครัวเรือน (10) คันพนังกั้นน้ำชีฝั่งซ้ายด้านท้ายเขื่อนธาตุน้อย ต.ธาตุน้อย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี วงเงิน 50.00 ล้านบาท พื้นที่ได้รับการป้องกัน 3,500 ไร่
3. โครงการสำคัญ ปี 66 - 67 จำนวน 78 โครงการ วงเงิน 14,081 ล้านบาท เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 238.72 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 116,386 ไร่ ครัวเรือนได้ประโยชน์ 98,426 ครัวเรือน และพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 26,149 ไร่ เช่น (1) ปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี จ.อุดรธานี วงเงิน 1,930 ล้านบาท ความจุ 36 ล้านลบ.ม. ได้รับประโยชน์ 28,000 ครัวเรือน อยู่ระหว่างออกแบบ มีแผนดำเนินการปี 67 (2) ปรับปรุงเพิ่มระดับเก็บกักฝ่ายหนองหวาย จ.ขอนแก่น วงเงิน 1,572 ล้านบาท ความจุ 93 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินการศึกษาและออกแบบแล้วเสร็จ มีแผนดำเนินการปี 67 (3) อ่างเก็บน้ำ ห้วยจระเข้ จ.ขอนแก่น วงเงิน 998 ล้านบาท ความจุ 19 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 14,750 ไร่ และ ได้รับประโยชน์ 375 ครัวเรือน ดำเนินการศึกษาและออกแบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีแผนดำเนินการปี 67 (4) อ่างเก็บน้ำห้วยหลัว พร้อมระบบส่งน้ำ จ.กาฬสินธุ์ วงเงิน 800 ล้านบาท ความจุ 8.2 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 4,695 ไร่ และได้รับประโยชน์ 1,743 ครัวเรือน ดำเนินการอยู่ระหว่างออกแบบ มีแผนดำเนินการปี 67 เป็นต้น (5) ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองขอนแก่น ระยะที่ 2 จ.ขอนแก่น วงเงิน 650 ล้านบาท พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 7,031 ไร่ และได้รับประโยชน์ 8,649 ครัวเรือน ดำเนินการศึกษาและออกแบบแล้วเสร็จ ดำเนินการปี 67