"เฉลิมชัย" นำทีมลงพื้นที่ติดตามน้ำท่วมอุบลฯ พร้อมตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัย
22 ก.ย. 2562, 20:57
วันนี้(22ก.ย.62)ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ พร้อมตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ ณ สถานีวันน้ำท่า M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากอิทธิพลพายุโพดุล เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณลุ่มน้ำชี-มูลประสบอุทกภัย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำมูล กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยมาโดยตลอด
ปัจจุบัน(22ก.ย62 เวลา06.00น.)สถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M.7 มีระดับสูงกว่าตลิ่งที่อำเภอวารินชำราบประมาณ 2.84 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,905 ลบ.ม./วินาที ซึ่งในขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ต่ำกว่าระดับน้ำแม่น้ำมูลประมาณ 3 เมตร การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงจึงสามารถระบายได้ดี ทำให้ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ M.7 ระดับน้ำลดต่ำลงเฉลี่ยประมาณวันละ 20 เซนติเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำที่ท่วมขังบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำมูลเริ่มมีระดับลงลดอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงมากกว่าวันละ 500 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยแม่น้ำชี-มูล(ส่วนหน้า)จังหวัดอุบลราชธานี กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำบริเวณต้นน้ำ ด้วยการหน่วงน้ำไว้ที่อาคารบังคับน้ำต่างๆ ในขณะที่พื้นที่ปลายน้ำ สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตลอดลำน้ำมูลจนถึงอำเภอโขงเจียม รวมทั้งสิ้น 300 เครื่อง แบ่งเป็นติดตั้งที่อำเภอพิบูลมังสาหารจำนวน 100 เครื่อง และที่อำเภอโขงเจียมอีกจำนวน 200 เครื่อง โดยดำเนินการติดตั้งพร้อมเดินเครื่องแล้วทั้งหมด เพื่อเร่งผลักดันน้ำจากลำน้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันบางพื้นที่ประชาชนสามารถกลับเข้าที่พักได้แล้วตั้งแต่วันที่ 20 กันยาน 2562 ที่ผ่านมา คาดว่าระดับน้ำจะลดลงเสมอตลิ่งและทยอยกลับสู่สภาวะปกติ ภายในสิ้นเดือนนี้
หลังจากนี้จะเป็นการเข้าช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยหลังน้ำลด โดยมีมาตราการช่วยเหลือ 8 กิจกรรม ร่วมกับหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรละสหกรณ์ อาทิ การเข้าสำรวจความเสียหาย โดย กรมส่งเสริมการเกษตร จัดหน่วยเคลื่อนที่ให้คำแนะนำฟื้นฟูด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ การแจกเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ โดยกรมการข้าว และกรมปศุสัตว์ การปล่อยพันธุ์ โดยกรมประมง ในส่วนของกรมชลประทาน จะดำเนินการเร่งระบายน้ำและเข้าช่วยเหลือด้านการซ่อมแซมเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เสียหายจากน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย” ในวันที่ 23 กันยายน 2562 ปล่อยขบวนคาราวานเครื่องจักร เครื่องมือ และคณะจิตอาสา เข้าทำความสะอาดอาคารบ้านเรือนที่ประสบอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด