เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ เห็นชอบ 4 มาตรการแก้ปัญหาอาวุธปืน-ยาเสพติด


12 ต.ค. 2565, 15:15



นายกฯ เห็นชอบ 4 มาตรการแก้ปัญหาอาวุธปืน-ยาเสพติด




วันนี้ ( 12 ต.ค.65 ) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (12 ตุลาคม 2565) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า ทุกคนทราบดีแล้วว่ามีสถานการณ์ความรุนแรงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นรัฐบาลรวมทั้งคนไทยทั้งประเทศมีความห่วงกังวลในเรื่องของการป้องกันและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน และยาเสพติด ตลอดจนการเยียวยาผู้เสียหายทั้งระบบ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีการประชุมหารือกันในขั้นต้น ในการกำหนดมาตรการเร่งด่วนที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว และมีผลเป็นรูปธรรมในการที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยได้มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง คือข้อเสนอเรื่องอาวุธปืนโดยกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อเสนอจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม การบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข การแก้ไขปัญหาและพัฒนาสุขภาพจิต ที่ต้องบูรณาการกันอย่างรัดกุม ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ จึงเห็นว่าต้องมีมาตรการเพิ่มเติมมากขึ้น จากโครงสร้างกลไกการป้องกันเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งวันนี้ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการใหญ่ขึ้นอีกหนึ่งคณะ เพื่อติดตามตรวจสอบการทำงานของทุกคณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อมากำกับดูแลหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ซึ่งเป็นระดับนโยบายและจังหวัดต่าง ๆ รวมไปถึงศูนย์ระดับกระทรวง กรมและพื้นที่บริการพิเศษ เขตและอำเภอหมู่บ้านและชุมชน ดังนั้น เป้าหมายในวันนี้คือ หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และมีผลเป็นรูปธรรม เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ที่จะเข้ามาดูแลเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งต้องทำงานอย่างบูรณาการและรัดกุม
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้ยาเสพติดกับการใช้อาวุธที่จะดำเนินการในหลายมิติ โดยเฉพาะมาตรการเรื่องการป้องกันป้องปรามในสถานที่ต่าง ๆ การปราบปรามโดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย กวาดล้างทั้งยาเสพติดและการใช้อาวุธต่าง ๆ ความเข้มข้นในการตรวจสอบการใช้อาวุธ การพกพาอาวุธ การบำบัดรักษา สถานที่บำบัดรักษาของรัฐ และศูนย์บำบัดรักษาต่าง ๆ ของส่วนท้องถิ่นให้มีเพียงพอได้คุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งต้องค้นหาคนที่ติดยาเสพติดเพื่อนำมาสู่การบำบัดรักษา ซึ่งจะต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการอย่างเข้มงวด และต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อไปโดยเร็วที่สุด 

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด ประกอบด้วย
1. มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน
1.1 กวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน และกระสุนปืนอย่างเข้มงวดในการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตและการพกพา
1.2 ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตรงตามกฎหมาย มีการตรวจสอบและรับรองทางจิตว่าไม่เป็นผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน/สำหรับในส่วนความประพฤติหรือพฤติกรรมต้องได้รับการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ว่าไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม และมีมาตรการตรวจสอบทบทวนเพื่อพิจารณาคุณสมบัติในทุกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม
1.3 เพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน เมื่อพบปัญหาทางจิต พฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม การใช้ยาเสพติด และมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม
1.4 กวาดล้างจับกุมอาวุธเถื่อนและการซื้อขายออนไลน์อย่างจริงจัง
1.5 ทบทวนกฎหมายที่จำเป็นให้มีความทันสมัย

2. มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
2.1 ควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารเคมีที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด “โซเดียมไซยาไนต์”    
2.2 เร่งติดตาม สืบสวนขยายผล ทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดอายัดทรัพย์สิน    
2.3 บูรณาการนำผู้เสพเข้าระบบศูนย์ข้อมูลที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส.
2.4 ทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยเฉพาะประเด็นปริมาณการครอบครอง เพื่อนำไปสู่การบำบัดฟื้นฟู
2.5 สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

3. มาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด 
3.1 ค้นหา คัดกรองผู้ป่วย SMIV เข้าสู่สถานฟื้นฟูฯ ภาคีเครือข่าย     
3.2 เร่งรัดการจัดตั้งศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบล ทั้ง สธ.และ อปท. และสถานบำบัดรักษาที่มีมาตรฐานสากล
3.3 บูรณาการการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment) ให้ครอบคลุมทุกตำบล 
3.4 พัฒนาพฤตินิสัย ร่วมกับการบำบัดฟื้นฟู โดยเฉพาะกลุ่มที่ก่อความรุนแรง หรือเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง และใช้กำไล EM เพื่อการติดตามดูแล

4. การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต  
4.1 จัดตั้งระบบดูแลสุขภาพจิตใน โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง / สถานประกอบกิจการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน / หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาวุธร้ายแรง
4.2 ทำการบำบัดฟื้นฟูทันที โดยจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ จัดตั้งหน่วยบูรณาการ จิตเวชฉุกเฉินทุกอำเภอ ระบบดูแลเบื้องต้นทางจิตเวชทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
4.3 ใช้ชุมชนบำบัด เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาจิตเวชทางไกล การดูแลต่อเนื่องในชุมชนในผู้ป่วยจิตเวชเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.