นายกฯ ห่วงปชช.เดินทางพื้นที่น้ำท่วม กำชับนำเรือ-รถยกสูง เข้าช่วยเหลือดูแลทั่วถึง
17 ต.ค. 2565, 15:21
วันนี้ ( 17 ต.ค.65 ) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยเรื่องการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ซึ่งเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหา โดยให้นำเรือ รถยกสูง ทั้งของหน่วยงานในพื้นที่ ส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ จิตอาสา สมาคมขนส่งฯ เข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมในขณะนี้ และย้ำขอให้ทุกฝ่ายช่วยกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับในส่วนของน้ำที่ไหลลงในพื้นที่ทุ่งต่าง ๆ เป็นการดำเนินการระบายน้ำด้วยความจำเป็น ขอให้หน่วยงานของรัฐทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำอย่างเร่งด่วนต่อไป
นอกจากนี้ จากอิทธิพลของมรสุม ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ จึงทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่าประเทศไทยยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณทุกภาคในช่วงนี้ รัฐบาลจึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมสูงในหลายพื้นที่ อีกทั้ง รัฐบาลมีความห่วงใยต่อการขับขี่รถของประชาชน เพราะการขับรถในสภาพดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนมากกว่าปกติ เนื่องจากสภาพถนนเปียกลื่น อาจมีน้ำท่วมขัง ทำให้ประสิทธิภาพในการทรงตัว และยึดเกาะถนนของรถลดลง รวมถึงทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน ดังนั้น เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น รัฐบาลจึงได้มีคำแนะนำให้ประชาชนผู้ขับขี่รถเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ขณะฝนตกและในพื้นที่น้ำท่วม
นายอนุชาฯ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก ได้แนะนำให้หมั่นตรวจสอบความพร้อมของรถอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะที่ปัดน้ำฝน สภาพยางปัดน้ำฝนต้องสามารถรีดน้ำบนกระจกได้ดี เพื่อทัศนวิสัยในการมองเห็นที่ชัดเจนขณะขับรถในช่วงฝนตก สภาพยางต้องมีสภาพดี ไม่มีรอยฉีกขาด บวม ดอกยางต้องไม่สึกหรอ มีความลึกพอที่จะสามารถยึดเกาะถนนและรีดน้ำได้เป็นอย่างดี เมื่อต้องขับรถขณะที่มีฝนตกและถนนเปียกลื่น หากยางรถเสื่อมสมรรถภาพมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ รวมทั้งตรวจเช็กระบบเบรก ซึ่งต้องสามารถหยุดรถได้ในระยะทางที่ปลอดภัย หากมีเสียงดังขณะเหยียบเบรก รถมีอาการปัด เหยียบแป้นเบรกไม่ลง หรือมีสัญลักษณ์ไฟระบบเบรกค้างบนหน้าปัด ควรนำรถเข้าตรวจสภาพให้ช่างตรวจสอบระบบเบรกเพื่อความปลอดภัย และเช็กระบบไฟรถยนต์ โดยต้องมีแสงไฟส่องสว่างทุกดวงและสามารถให้แสงสัญญาณได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงฝนตก
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกแนะนำว่า การขับขี่ขณะฝนตกผู้ขับขี่ต้องใช้ความเร็วให้เหมาะสมกับทัศนวิสัยการมองเห็น และต้องหมั่นสังเกตสภาพถนนให้มากขึ้น เพราะเมื่อฝนตกหนักนอกจากถนนเปียกลื่นแล้ว ยังอาจมีน้ำขังบนพื้นผิวจราจร หากรถขับด้วยความเร็วสูง เมื่อยางปะทะกับน้ำที่ขังบนพื้นผิวจราจร อาจทำให้รถเกิดอาการเหินน้ำ ไม่ยึดเกาะถนน จนไม่สามารถควบคุมรถได้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงได้ ให้เปิดที่ปัดน้ำฝนโดยปรับระดับความเร็วตามปริมาณของฝนที่ตกลงมา เว้นระยะห่างจากรถคันหน้ามากกว่าปกติ เพื่อให้มีระยะเบรกมากขึ้น เปิดไฟหน้ารถทันทีเมื่อฝนตกหนัก เพื่อให้รถคันอื่นมองเห็นได้ชัดเจน หากมีความจำเป็นต้องขับขี่บริเวณที่น้ำท่วมขัง ให้สังเกตระดับความลึกจากรถคันหน้าหรือขอบทางเท้า และสำหรับรถจักรยานยนต์ หากฝนตกหนักควรหาที่จอดรถที่เหมาะสมและปลอดภัย และรอจนฝนเบาลงก่อนจึงเดินทางต่อ กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินรถเสีย ประสบอุบัติเหตุ จำเป็นต้องจอดข้างทาง พยายามเคลื่อนรถให้พ้นทางเดินรถ หากจำเป็นต้องจอดในทางเดินรถ ควรจอดในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจร จอดรถให้ชิดไหล่ทางมากที่สุด เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินหรือเปิดไฟเหลืองกระพริบ เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่รถคันอื่นมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และในส่วนของเจ้าของรถที่เกิดกรณีแผ่นป้ายทะเบียนรถหล่นหาย สามารถขอรับแผ่นป้ายทะเบียนรถทดแทนได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งความโดยติดต่อยื่นคำขอ ณ สำนักงานขนส่งที่รถนั้นอยู่ในความรับผิดชอบ
นายอนุชาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำให้ประชาชนตระหนักถึงข้อควรระวัง เมื่อขับรถเจอน้ำท่วม คือ 1. สังเกตระดับของน้ำ ถ้าหากขับไปแล้วเจอฝนตกหนัก ถนนเริ่มมีน้ำท่วมขัง ก่อนจะขับรถลุยน้ำควรประเมินความลึกของระดับน้ำไม่ควรท่วมเกิน 30 ซม. ถ้าน้ำท่วมเลยระดับฟุตบาทแนะนำให้เลี่ยงเส้นทางนั้น หรือดูจากระดับน้ำท่วมที่ล้อรถ หากท่วมถึงระดับขอบประตูไม่แนะนำให้เดินทางต่อเพราะน้ำอาจเข้าห้องโดยสาร ส่งผลให้ระบบไฟช็อตและเครื่องยนต์อาจดับได้ 2. เลือกเลนขับเวลาเจอน้ำท่วม รักษาระยะห่างจากรถคันอื่น หลีกเลี่ยงเลนที่น้ำท่วมสูง โดยเบี่ยงรถเข้าหาเลนที่มีน้ำระดับต่ำ จะช่วยลดความเสี่ยงน้ำเข้าเครื่องยนต์ได้ 3. ชะลอความเร็วก่อนถึงจุดน้ำท่วม หากจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำ ขอให้ชะลอความเร็ว เพราะถ้าขับด้วยความเร็วสูง รถอาจเสียการทรงตัวได้ เวลาขับควรใช้ความเร็วต่ำและสม่ำเสมอ และเหยียบเบรกย้ำ ๆ เพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรก
“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นห่วงเรื่องการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะเส้นทางที่คมนาคมถูกตัดขาด และย้ำขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเพื่อช่วยเหลือประชาชน และเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน การขับขี่ยานพาหนะในสภาวะที่ฝนตก และถนนมีน้ำท่วมขังเป็นระยะต้องมีการเตรียมพร้อมและระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยในความปลอดภัยของผู้ที่ใช้รถใช้ถนนทุกคน จึงขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนช่วงนี้ เพราะการเดินทางช่วงที่มีฝนตกมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้สูง ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ขอให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทรสายด่วน 1669 ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ จะเกิดความปลอดภัยกับผู้บาดเจ็บมากขึ้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังให้เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในส่วนของการระบายน้ำที่ไหลลงในพื้นที่ทุ่งต่าง ๆ ว่าเป็นการดำเนินการด้วยความจำเป็น ซึ่งรัฐบาลจะดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว