เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เหตุผล ! สนามบิน มูลค่า2พันล้าน "โคราช"  กลายเป็นสนามบินร้าง


23 ก.ย. 2562, 12:37



เหตุผล ! สนามบิน มูลค่า2พันล้าน "โคราช"  กลายเป็นสนามบินร้าง




 


   นับตั้งแต่ที่ จ.นครราชสีมา หรือ โคราช  ได้ย้ายสนามการบินพาณิชย์จากสนามบินกองบิน 1 กองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธ์ทางอากาศ ต.หนองไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครราชสีมา ออกไปใช้สนามบินที่ก่อสร้างขึ้นใหม่มูลค่าเกือบ 2,000 ล้านบาทของกรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคม คือ ท่าอากาศยานนครราชสีมา บริเวณหนองเต็ง-จักราช ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ในปี 2540 ปรากฏว่า สายการบินต่างๆ ที่เปิดเส้นทางการบินมายัง จ.นครราชสีมา ได้ไม่นาน ล้วนประสบปัญหาต้องยกเลิกทำการบิน และก่อให้เกิดสภาวะสนามบินร้างอยู่เป็นประจำ ทิ้งช่วงเป็นระยะๆ 2-3 ปีเช่นนี้มาโดยตลอด

 


เริ่มจาก การบินไทย ซึ่งย้ายมาทำการบินที่ท่าอากาศยานแห่งใหม่ เป็นเจ้าแรกในฐานะเจ้าของสัมปทานเส้นทางการบินกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ได้ราว 2 ปีก็ยกเลิก เพราะขาดทุนผู้โดยสารมาใช้บริการน้อย หลังจากเป็นสนามบินร้างอยู่ 2-3 ปี แอร์อันดามันได้เข้าช่วงปี 2542-2543 ภายใต้การพยายามประคับประคองช่วยเหลือจากการบินไทย ด้วยการซื้อที่นั่งช่วยจำนวน 10 ที่นั่งในทุกเที่ยวบิน แต่ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ จากนั้นการบินไทยกลับมาบินเองอีกครั้ง อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ต้องเลิกราไป และปล่อยให้เป็นสนามบินร้าง ตั้งแต่ปลายปี 2544 เป็นต้นมา ต่อด้วยไทยแอร์เอเชีย ที่นำสายการบินราคาประหยัดเข้ามาบิน เพื่อหวังให้อยู่ได้ แต่ต้องปิดตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยสาเหตุเดียวกัน

 

ปี 2554 สายการบินไทยรีเจียนัลแอร์ไลน์ส เริ่มทำการบินกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในวันที่ 2 กันยายน แต่เนื่องจากท่าอากาศยานแห่งใหม่นี้อยู่ห่างตัวเมืองมาก ประกอบกับปัญหาด้านการคมนาคมเข้าสู่สนามบิน ทำให้ไม่เป็นที่นิยมใช้บริการ จนสายการบินต้องยกเลิกทำการบินไปในที่สุด

 

ปี 2558 สายการบินกานต์แอร์ เปิดเส้นทางการบินเชื่อมภูมิภาค นครราชสีมา - เชียงใหม่ เริ่มทำการบินวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 และต่อมาต้องยกเลิกการทำการบิน เนื่องจากปัญหาด้านใบอนุญาตทำการบิน

 

ปี 2560 สายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส เปิดให้บริการเส้นทางบิน นครราชสีมา - เชียงใหม่, ภูเก็ต และดอนเมือง ในเดือนธันวาคม ต่อมาประกาศปิดสายการบินทั้งหมด เมื่อ17 เม.ย.นี้ 2561  เผยทนแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว ย้ำพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ระบุขาดทุนเดือนละกว่า 1 ล้านบาท 

 

 



ย้อนไปช่วงปี 2529-2537 ในขณะที่ยังใช้สนามบินกองบิน 1 เป็นสนามการบินพาณิชย์ ขณะนั้นถึงแม้ค่าตั๋วจะอยู่ในอัตราที่แพง แต่ก็ยังประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมจากประชาชน นักธุรกิจ ข้าราชการหรือนักการเมือง มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพราะสะดวกสบายและอยู่ใกล้ตัวเมือง


ซึ่งหมายความว่า ปัจจัยหลักที่การเดินทางโดยเครื่องบินของจังหวัดนครราชสีมาไม่ได้รับความนิยม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราราคาค่าโดยสารเพียงอย่างเดียว แต่หัวใจสำคัญของปัญหาอยู่ที่ เพราะท่าอากาศยานนครราชสีมาหรือ สนามบินหนองเต็ง-จักราชอยู่ไกลจากตัวเมืองมากเกินไปถึง 30 กิโลเมตร และไม่มีระบบขนส่งผู้โดยสาร ระหว่างตัวเมืองกับสนามบินรองรับเพราะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

 

ผู้โดยสารที่จะใช้บริการเครื่องบินต้องมีรถยนต์ส่วนตัวไปส่ง-ไปรับ หรือหาวิธีเอาตัวรอดเอง ซึ่งต้องเสียเวลาเดินทางไปสนามบินไม่ต่ำกว่า 45 นาที รวมเวลา กว่าเครื่องบินจะออก กว่าจะบินถึงกรุงเทพฯ  ซึ่งช้าและยุ่งยาก กว่าการเดินด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือ รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ซึ่งขัดกับหลักของความเป็นจริงที่เมื่อต้องจ่ายแพงกว่า แต่กลับยุ่งยากไม่สะดวกและเสียเวลามากกว่า

 

ทั้งนี้ท่าอากาศยานนครราชสีมา บริเวณหนองเต็ง-จักราช มีพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 5,500 ตารางเมตร พื้นที่ลานจอดเครื่องบิน 27,455 ตรม. และหลุมจอดเครื่องบิน 4 Bays   อยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ 26 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 4,625 ไร่  เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ได้รับการประกาศให้เป็นท่าอากาศยานศุลกากร สามารถรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศได้ 

 

 


ปัจจุบัน ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา พยายามผลักดันให้ ท่าอากาศยานนครราชสีมา มีการบินพาณิชย์  โดยการเจรจาสายการบินระหว่างประเทศ  ทั้งสายการบินคุนหมิงแอร์ไลน์ ,ลาวแอร์ไลน์ ท่ามกลางการรอข่าวดี อย่างใจจดใจจ่อของชาวโคราช ที่อยากเห็น ท่าอากาศยานนครราชสีมา กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง


 

 

 

 

 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.