ครม.อนุมัติเพิ่มตำแหน่งรองปลัดสธ. อีก 1 ตำแหน่ง รับภารกิจขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน
18 ต.ค. 2565, 16:24
วันนี้ ( 18 ต.ค.65 ) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น จำนวน 1 ตำแหน่ง ตามที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.)เสนอ โดยให้นำตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข นายแพทย์ด้านวิจัยหรือด้านสาธารณสุข ระดับทรงคุณวุฒิตำแหน่งเลขที่ 10 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงสาธารณสุขแล้วมาปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งเป็นตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ทั้งนี้หากกระทรวงสาธารณสุขยังมีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวต่อไปอีกในระยะยาว อาจกำหนดให้ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงรับผิดชอบการบริหารและกำกับดูแลกลุ่มภารกิจตามการจัดกลุ่มภารกิจในกระทรวงสาธารณสุขที่จะกำหนดเพิ่มใหม่ต่อไป
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บัญญัติให้กระทรวงสาธารณสุขมี 10 ส่วนราชการ จำนวน 3 กลุ่มภารกิจ ได้แก่ กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์ กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการสาธารณสุข และกลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริหารสุขภาพ โดยปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีตำแหน่งรองปลัดกระทรวงรวม 4 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งรองปลัดกระทรวงด้านบริหาร 1 ตำแหน่ง และเป็นรองปลัดกระทรวงด้านการจัดกลุ่มภารกิจในกระทรวงสาธารณสุข 3 ตำแหน่ง
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ขอกำหนดตำแหน่งรองปลัดกระทรวงเพิ่มขึ้น 1 ตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบการบริหารและกำกับดูแลงานในภารกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนระดับชาติ และภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการตามกฎหมาย เช่น การบริหารเขตสุขภาพ 12 เขต และกรุงเทพมหานคร, การขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ, การบัญชาการในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขและภัยสุขภาพ, การผลักดันงานด้านการต่างประเทศ, การส่งเสริมนวัตกรรมและศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์(Medical Hub)และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพ รวมทั้งการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งล้วนส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งการมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขใหม่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดความซ้ำซ้อนของภารกิจและปัญหาภาระงาน สามารถกำกับ สั่งการ อนุมัติ อนุญาต ได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ