คึกคัก ! นทท. แห่เดินทางขึ้นไปเที่ยวบ้านอีต่อง ช่วงวันหยุดยาว
23 ต.ค. 2565, 21:30
วันนี้ 23 ต.ค. 2565 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า บรรยากาศวันหยุดยาวนักท่องเที่ยวแห่เดินทางขึ้นไปเที่ยวบ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี กันอย่างคึกคัก โดยมีส่วนหนึ่งขึ้นไปร่วมทำบุญทอดกฐิน ที่วัดเหมืองปล็อก หลังจากเสร็จจากการทำบุญแล้ว ได้เดินทางไปเที่ยวชม พร้อมถ่ายรูปเหมืองเก่าไว้เป็นที่ระลึก และชมบ่อปลาคาร์พ บ้านอีต่อง อยู่สุดเขตชายแดนทางฝั่ง อ.ทองผาภูมิ มีพื้นที่เล็กๆ ที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีตจากการทำเหมืองแร่ดีบุก นั่นก็คือ ปิล๊อก ในอดีตการขึ้นลงจะต้องขึ้นวันหนึ่งและลงวันหนึ่ง เนื่องจากรถไม่สามารถสวนทางกันได้ เส้นทางเป็นภูเขาสูงชันและเหวลึก แต่ปัจจุบันสะดวกยิ่งขึ้น ลาดยางตลอดเส้นทาง
คำว่า ปิล๊อก มาจากคำว่า ผีหลอก มีที่มาที่ไปคือ ในอดีตที่เคยเป็นดินแดนอันน่ากลัว มีการล้มตายจากการเข่นฆ่า และไข้ป่า โดยเฉพาะช่วงการเปิดเหมืองนั้น ได้เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจไทยกับกรรมกรพม่า เพราะฝ่ายไทยห้ามกรรมกรพม่านำแร่ไปขายให้อังกฤษ แต่กรรมกรพม่าฝ่าฝืน จึงเกิดการปะทะกันทำให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก แต่ต่อมาชาวพม่าพูดเพี้ยนไปเป็น ปิล๊อก ซึ่งกลายเป็นชื่อและชื่อตำบลในเวลาต่อมา ย้อนอดีตกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน มีผู้พบเห็นชาวพม่าเข้ามาลักลอบขุดแร่ในพื้นที่ตำบลปิล๊อก ไปขายให้ทหารอังกฤษ คำเล่าลือนี้ทำให้กรมทรัพยากรธรณีสมัยนั้นนำคณะนายช่างมาสำรวจก็ถึงกับตะลึงอึ้งเมื่อพบว่าพื้นที่แถบนี้มีแร่ดีบุกและวุลแฟรมอยู่มากมาย
ต่อมา ปี พ.ศ. 2483 องค์การเหมืองแร่ กรมโลหะกิจ ได้เปิดเหมืองปิล๊อก ขึ้นเป็นแห่งแรกที่บ้านอีต่อง ต.ปิล๊อก หลังจากนั้นก็ได้มีเหมืองแร่อื่นๆ ทยอยเปิดตามกันมาอีกมากมายทั้งเหมืองเล็กเหมืองใหญ่ราว 50-60 เหมือง เกิดเมืองเหมืองขึ้นมา โดยผู้คนพากันเรียกบรรดาเหมืองทั้งหลายในพื้นที่แถบนี้แบบเหมารวมว่า เหมืองปิล๊อก ไปด้วย เหมืองปิล๊อก ยุคนั้นเฟื่องฟูมากเพราะแร่ราคาดี ทำให้บรรดาชาวเหมืองและนักแสวงโชคมั่งคั่งกันถ้วนหน้า แถมเหมืองแร่ยังสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนรอบๆ อีกด้วย ก่อนประสบภาวะราคาแร่โลกตกต่ำในปี พ.ศ. 2528 บรรดาเหมืองแร่ทยอยปิดตัวลง ไม่เว้นแม้แต่เหมืองปิล๊อก ทิ้งไว้เพียงตำนานเมืองเหมืองอันรุ่งโรจน์และมนต์เสน่ห์แห่งปัจจุบันอันเรียบง่ายสงบงามให้ผู้สนใจออกดั้นด้นเดินทางไปค้นหา
สำหรับ บ้านอีต่อง เป็นหมู่บ้านชายแดนที่ตั้งของเหมืองปิล๊อก แม้ว่าจะเคยผ่านช่วงเฟื่องฟูและความเงียบเหงามาแล้ว แต่ในปัจจุบัน บ้านอีต่องกลับกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ เป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาที่อยากมาสัมผัสบรรยากาศความเงียบสงบท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขา แม้หน้าตาของบ้านและอาคารต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมากแล้ว แต่บ้านอีต่องก็ยังคงความเรียบง่ายของและมีเสน่ห์แอบแฝงอยู่ สายน้ำด้านหน้า เดินผ่านตัวสะพานข้ามมายังชุมชน มีย่านร้านตลาด ที่จะคึกคักในช่วงเช้าและค่ำ จะเห็นนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา เข้ามาสัมผัสบรรยากาศสงบงามของที่นี่ โดยเฉพาะ ยังมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปพิชิตเขาช้างเผือกที่อยู่ใกล้ๆ มาพักกายคลายความเหนื่อยล้า บอกเล่าเรื่องราวระหว่างทางเดินสู่กันฟังยามเช้าที่บ้านอีต่อง ลองตื่นแต่เช้าตรู่มาใส่บาตรยามเช้า เดินเล่นรอบๆ หมู่บ้าน รับอากาศเย็นฉ่ำในช่วงฤดูหนาว ส่วนช่วงฤดูฝนจนถึงปลายฝนต้นหนาวก็จะเห็นหมอกหนาๆ ที่ลอยไหลเอื่อยๆ อยู่รอบตัว ทำให้ที่นี่กลายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในม่านหมอก ดูสวยงามลึกลับไปอีกแบบ
จุดไฮไลต์ของที่นี่ หากว่าใครมาถึงบ้านอีต่องแล้วก็มักจะซื้อป้ายไม้แผ่นบางๆ มาเขียนข้อความแล้วผูกไว้กับราวสะพาน ยามมีลมพัดผ่านป้ายไม้ก็จะปลิวไปมาส่งเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ ภายใน ตลาดอีต่อง ก็มีร้านค้าเปิดอยู่ไม่มากนักหากไม่ใช่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีสินค้าหลากหลายให้เลือกซื้อ โดยเฉพาะสินค้าของฝากจากพม่า รวมถึงอาหารการกินต่างๆ ส่วนร้านอาหารก็มีเพียงไม่กี่ร้าน เมนูเด็ดที่แนะนำก็เป็นพวกปู กุ้ง หมึก หอย สดๆ ที่ส่งตรงมาจากทะเลพม่า
บนเนินเขาใกล้กับหมู่บ้านมี วัดเหมืองแร่ปิล๊อก สามารถเดินขึ้นเนินไปสักการะพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดได้ หากมองจากด้านล่างก็จะเห็นเจดีย์สีทองอร่ามและพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ติดกับทางเข้าหมู่บ้านอีกทาง จะเห็น เหมืองปิล๊อก ที่หลักฐานชั้นดีว่าในอดีตเคยมีเหมืองแร่อยู่ที่นี่ยังคงเห็นเศษรถเก่า เครื่องมือ เครื่องจักร และอาคารต่างๆ ที่เคยใช้งานในยุคเหมืองแร่รุ่งเรือง
จากตัวหมู่บ้านอีต่อง เดินทางขึ้นไปชมวิวยัง เนินเสาธง หรือ จุดประสานสัมพันธไมตรีนิจนิรันดร์ไทย - เมียร์มา ที่มีเสาธงชาติของสองประเทศตั้งโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ เนินเสาธง เป็นยอดเขากั้นพรมแดนไทย - พม่า ที่นี่จึงมีทั้งทหารไทย ตชด. และทหารพม่าประจำการอยู่ ในขณะที่ทิวทัศน์บนนี้ หลักๆ ก็เห็นจะเป็นโรงพักแยกก๊าซธรรมชาติทั้งในฝั่งไทยและฝั่งพม่า ส่วนถ้าวันไหนท้องฟ้าเปิดเป็นใจ ในฝั่งพม่าสามารถมองไปไกลเห็นถึงทะเลอันดามันเลยทีเดียว เลยขึ้นไปอีกนิดจะเป็น ช่องทางมิตรภาพ ลักษณะเป็นช่องเขาเล็กๆ ที่เป็นจุดเชื่อมต่อชายแดนไทย - พม่า ตรงจุดนี้สามารถเดินข้ามชายแดนเข้าไปถ่ายรูปคู่กับเสาธงพม่าได้
ส่วนจุดชมวิวสุดสวยของปิล๊อก ต้องยกให้ จุดชมวิวเนินช้างศึก อันเป็นที่ตั้งของฐาน ตชด.เหนือเมฆ หรือฐาน ตชด.ลอยฟ้า เพราะเมื่อขึ้นไปยืนบนนั้นแล้วมองลงมาเบื้องล่างจะเห็นวิวทิวทัศน์ของขุนเขาแห่งเทือกเขาตะนาวศรี อันสวยงามกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา จะมาชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าหรือพระอาทิตย์ตกยามเย็น แม้แต่ขึ้นมาในช่วงกลางวัน ก็มีความงดงามน่าประทับใจไม่ต่างกัน
จากนั้นเดินเลยไปอีกจะเป็น จุดชมวิวเนินช้างเผือก ที่มองลงไปจะเห็นแนวเขาและยอดเขาช้างเผือก จุดสูงสุดของที่นี่ได้อย่างเด่นชัด ซึ่งทั้งเนินดอยและเนินช้างเผือกต่างก็เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นชั้นดีที่สามารถมองเห็นดวงตะวันแรกแย้มยามเช้าได้อย่างสวยงามน่ายล เลยทางเข้าอุทยานไปอีกนิดจะเป็น น้ำตกจ๊อกกะดิ่น เป็นน้ำตกขนาดย่อมสูงประมาณ 30 เมตร มีชั้นเดียว แต่ว่ามีความพิเศษตรงที่มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นสีครามปนเขียว เหมาะแก่การเล่นน้ำมาก
ปิล๊อก ในอ้อมกอดของขุนเขา นั้นมีเสน่ห์ในทุกฤดูกาล แม้หน้าร้อนร้อนจัด หน้าหนาวหนาวยะเยือก หน้าฝนฝนตกชุก ความแตกต่างอย่างสุดขั้วนี่แหละที่ทำให้หลายๆ คนอยากมายลความงามที่ผันเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา แต่ที่แน่ ๆ คือความเงียบสงบและร่องรอยของกาลเวลาที่ยังคงอยู่นั้น ทำให้เมืองเล็ก ๆ ริมชายแดนแห่งนี้ยังน่าค้นหาไม่เสื่อมคลาย การเดินทางเข้ามาที่ปิล๊อกและบ้านอีต่อง ปัจจุบันสามารถขับรถเข้ามาได้อย่างสะดวกสบาย แต่ในช่วงฤดูฝนแนะนำให้ใช้รถกระบะหรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อระยะทางจากตัว อ.ทองผาภูมิ มายังบ้านอีต่องประมาณ 70 กิโลเมตร มีทางโค้งขึ้น-ลงเขาประมาณ 399 โค้ง หากไม่มีรถส่วนตัว สามารถนั่งรถประจำทางมาลงที่ทองผาภูมิ จะมีรถสองแถวประจำทางเข้ามายังบ้านอีต่อง สำหรับที่พัก ที่บ้านอีต่องมีบ้านพักให้บริการหลายแห่ง มีทั้งลานกางเต้นท์บริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ภายในโรงเรียน และบนเนินช้างศึกไว้บริการ