นายกฯ สร้างภูมิทัศน์ใหม่พลิกโฉมนวัตกรรมการเงินไทย โชว์ความก้าวหน้าธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
25 ต.ค. 2565, 09:55
วันที่ 25 ต.ค. 65 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งเสริมและมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลโดยเร็ว ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงพัฒนากับธนาคารกลางอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนร่วมกันผลักดันโครงการ ASEAN Payment Connectivity ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศในภูมิภาคมีความสะดวก ปลอดภัย และต้นทุนต่ำ ผลสำเร็จที่เห็นชัดคือ ประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (cross-border payment) สองรูปแบบคือ (1) การชำระเงินด้วย QR payment และ (2) การโอนเงินระหว่างประเทศ ผ่านบัญชีอย่างสะดวกและรวดเร็ว จนประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนจากการมีจำนวนการเชื่อมโยงด้านการเงินมากที่สุด
“ในปัจจุบันมี 6 ประเทศนำร่อง การโอนเงินระหว่างประเทศกับไทย ( Cross-border QR Payment) คือ ญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมาก ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนดีกว่าการใช้บัตรเครดิต วิธีการง่ายๆเพียงสแกนไทยคิวอาร์โค้ด ผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ 5 ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่กรุงเทพ กสิกรไทย กรุงไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงศรีอยุธยา” น.ส. ทิพานัน กล่าว
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ซึ่งความสำเร็จนั้น เป็นการต่อยอดมาจากการพัฒนา Thai QR payment ภายใต้ระบบ PromptPay ของรัฐบาล พล.อประยุทธ์ จนทำให้ไทยมี QR code ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ และได้กลายมาเป็นบริการชำระเงินที่คนไทยคุ้นเคยในทุกวันนี้ จากโครงการที่ประสบผลสำเร็จทั้งทางด้านนวัตกรรมการเงินดังกล่าว ไทยจึงเสนอแนวปฏิบัติการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างเขตเศรษฐกิจ ภายใต้ชื่อ "APEC Policy Considerations for Developing Cross-Border Payments and Remittances” ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา รวมทั้งยังได้จัดแสดงนวัตกรรมการชำระเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Payment) ประกอบด้วย Cross-border QR Payment และ Digital Supply Chain Solution เพื่อเป็นแนวทางให้กับสมาชิกเอเปคอื่น ๆ นำนวัตกรรมนี้ไปประยุกต์ใช้กับประเทศสมาชิกเอเปคในอนาคต ซึ่งการนำเสนอนวัตกรรมการเงินดิจิทัลนี้ จะทำให้คนไทยและธุรกิจไทยได้ประโยชน์ 4 เรื่องคือ
1. ระบบการชำระเงินไทย จะมีโครงสร้างพื้นฐานและมีโอกาสขยายฐานไปสู่สมาชิกเอเปค ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ด้านการชำระเงิน ที่สอดรับกับการพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจการเงินได้รวดเร็ว มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ รองรับการใช้ประโยชน์จากผู้ประกอบการที่หลากหลาย ก่อให้เกิดนวัตกรรมบริการชำระเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และมีโครงสร้างธรรมาภิบาลด้านการชำระเงินที่เหมาะสม รวมทั้งมีการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น มีประสิทธิผลและเท่าทันความเสี่ยงใหม่ในยุคดิจิทัล
2. ประชาชน มีบริการดิจิทัลเพย์เมนต์ ที่ครอบคลุม ในการโอนเงินระหว่างประเทศ( Cross-border QR Payment) จะทำให้ทุกการเดินทางในต่างประเทศ หรือทำธุรกรรมออนไลน์ระหว่างประเทศ แล้วไม่มีบัตรเครดิต สามารถโอนจ่ายง่าย สะดวก มีระบบป้องกันที่ปลอดภัย ทั่วทั้งกลุ่มอาเซียน และอนาคตในกลุ่มสมาชิกเอเปค ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมถูกและอัตราเรทค่าเงินที่ดี
3. ธุรกิจ-SMEs จะมีบริการชำระเงินที่ตอบโจทย์การทำธุรกิจการค้าและการชำระเงินดิจิทัลได้สะดวก และหากเข้าร่วมนวัตกรรมบริการการเงิน Digital Supply Chain Solution จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจทั้งด้านการประหยัดเวลา ลดเอกสาร ลดต้นทุนการขยายธุรกิจ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น รวดเร็ว เป็นการยกระดับศักยภาพ พลิกโฉมการดำเนินธุรกิจและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล
4. ผู้ให้บริการชำระเงิน เช่น ธนาคารต่างๆ เพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการปรับตัวให้สอดรับกับโลกเงินดิจิทัล ด้วยเกณฑ์การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการและเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมภายใต้การกำกับดูแลความเสี่ยงใหม่อย่างเท่าทันในยุคดิจิทัล
“การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินของไทย ต้องใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้หลากหลาย และต้องอาศัยความทุ่มเทจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงต้องมีการสนับสนุนการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในด้านเทคโนโลยีจากรัฐบาล เพื่อการพัฒนาที่รวดเร็วเป็นธรรม ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เล็งเห็นความสำคัญจึงได้วางโครงสร้างไว้อย่างครบถ้วนและพร้อมเดินหน้าสร้างภูมิทัศน์พลิกโฉมภาคการเงินไทย ให้แข่งขันและล้ำหน้าในระดับโลกต่อไปอย่างยั่งยืน” น.ส.ทิพานัน กล่าว