มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ เตรียมการป้องกันอุบัติภัย บูรณาการทุกหน่วย ดูแลชีวิตและทรัพย์สินประชาชนในช่วงวันลอยกระทง 65 ให้มีความปลอดภัย
28 ต.ค. 2565, 12:46
เมื่อวานนี้ (27 ต.ค. 65) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นี้ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันลอยกระทง ตามประเพณีไทย หลายพื้นที่ของจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จะจัดให้มีสถานที่สำหรับให้พี่น้องประชาชนได้ลอยกระทงตามประเพณี ตามช่วงระยะเวลาแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และพี่น้องประชาชนนิยมเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อร่วมกันลอยกระทงกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วงเทศกาลดังกล่าว ประชาชนนิยมการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ การปล่อยโคมลอย และมักจะเกิดอัคคีภัยอยู่เป็นประจำ รวมถึงอุบัติเหตุจากการสัญจรทั้งทางบก และทางน้ำ สร้างความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันอันตรายจากอุบัติภัยอันเกิดจาก พลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง และอุบัติเหตุจากการสัญจรที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด กำชับนายทะเบียนท้องที่เข้มงวด กวดขัน การออกใบอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตให้ทำ สั่ง นำเข้า หรือขายดอกไม้ไฟ รวมทั้งตรวจสอบสถานที่เก็บ ทำ หรือขายดอกไม้ไฟที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ตรวจตราตรวจสอบอาคารสถานที่ โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ง่าย และบำรุงซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรง รวมทั้งเตรียมความพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ให้พร้อมเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวต่ออีกว่า ให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน ที่จะจัดงานวันลอยกระทง เตรียมการป้องกันและระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติภัย โดยจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์กู้ภัยทั้งทางบก ทางน้ำ และไฟฟ้าส่องสว่าง หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมประจำบริเวณสถานที่จัดงานลอยกระทง เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันทีหากเกิดเหตุ และให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเคร่งครัด สำหรับจังหวัดพื้นที่ภาคใต้มีโอกาสเกิดพายุ ฝนฟ้าคะนองและวาตภัย จึงให้เข้มงวดในการดูแลสิ่งปลูกสร้างบริเวณที่จัดงานให้มีความมั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้ กำชับให้กำหนดมาตรการความปลอดภัยจากการปล่อยโคมลอย พลุ ตะไล โคมควัน หรือวัตถุอื่น ๆ ในช่วงวันลอยกระทง ทั้งกำหนดแนวทางการขออนุญาต ช่วงเวลา ขอบเขตพื้นที่สำหรับปล่อยโคมลอย ข้อห้าม และบทลงโทษตามกฎหมาย โดยต้องสื่อสารให้พี่น้องประชาชนเข้าใจแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน รวมถึงสร้างความตระหนักถึงอันตรายจากอัคคีภัยที่เกิดจากการปล่อยโคมลอย ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
"ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ จัดชุดปฏิบัติการ โดยบูรณาการกำลังร่วมกับหน่วยราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนจิตอาสา สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เฝ้าระวังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และอุบัติภัยอื่น โดยเฉพาะอุบัติภัยทางน้ำ พร้อมจัดระเบียบและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรตามมาตรการที่กำหนด และรักษาความสงบเรียบร้อย เฝ้าระวังความปลอดภัยบริเวณที่มีประชาชนหนาแน่น ตรวจสอบความปลอดภัยบริเวณโป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร สถานที่ริมน้ำสำหรับประชาชนใช้ลอยกระทง และเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย รวมทั้งความปลอดภัยของเรือโดยสาร สำหรับพื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยต่อเนื่อง ต้องแจ้งเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง พร้อมทั้งดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยที่กำหนด และรณรงค์ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทราบถึง
มาตรการความปลอดภัย การร่วมแสดงออกในการประพฤติปฏิบัติตามแบบวัฒนธรรมอันดีงามแห่งท้องถิ่นและร่วมกันลอยกระทงตามประเพณีไทย พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนจิตอาสาร่วมรักษาความสะอาดบริเวณแหล่งน้ำ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะ และการเกิดปัญหาจากสิ่งกีดขวางทางน้ำ" พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม