สสจ.กาญจนบุรี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสื่อสารประชาสัมพันธ์
28 ต.ค. 2565, 21:41
วันนี้ 28 ต.ค. 2565 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่พบบ่อยและทำให้เกิดความพิการตลอดชีวิตถึงร้อยละ 70 ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคนี้สูงถึง 15 ล้านรายต่อปีทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 5 ล้านราย ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 1,880 คนต่อประชากรแสนคน หรือร้อยละ 2 ซึ่งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในเพศหญิงและอันดับ 3 ในเพศชาย นอกจากนั้นโรคนี้ยังมีอัตราความพิการสูง การศึกษาในประเทศไทยพบว่า 100 คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะเสียชีวิตร้อยละ 5 และพิการร้อยละ 70 ซึ่งนอกจากความพิการทางกายแล้วยังมีผลทำให้ความจำเสื่อมในภายหลังอีกด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย และเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าประชาชนขาดความรู้ด้านการป้องกันหรือรักษาอย่างถูกวิธี อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถป้องกันได้ถึงร้อยละ 80 โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ประชาชนควรมีความรู้ ความเข้าใจ มีความตระหนัก และให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพตนเองที่ถูกต้องและเหมาะสม
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี โดยกลุ่มงานบริหารทั่วไป (งานโสตฯ) จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภัยเงียบด้านสุขภาพเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง “STROKE” สัญญาณเสี่ยงโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต จังหวัดกาญจนบุรี ปี 2566 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องภัยเงียบด้านสุขภาพ ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง สัญญาณเสี่ยงโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต สามารถถ่ายทอดความรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้อง เผยแพร่สู่ประชาชน สื่อมวลชน ภาคีเครือข่ายต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องภัยเงียบด้านสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง “STROKE” สัญญาณเสี่ยงโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
2. เพื่อให้ประชาชนและภาคีเครือข่ายสุขภาพทุกภาคส่วนสามารถหลีกเลียงปัจจัยเสี่ยง และทราบเกี่ยวกับสัญญาณเตือนการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง สามารถดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง ครอบครัว ชุมชนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม
นายแพทย์ชาติชาย กล่าวต่อไปว่า โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ โดยต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้หลอดเลือดเกิดการตีบ อุดตัน หรือแตก หลักการปฏิบัติตน ดังนี้ ตรวจเช็กสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง กรณีที่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ต้องรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษาของแพทย์ ห้ามหยุดยาเอง และควรรีบพบแพทย์ทันทีถ้ามีอาการผิดปกติ ไม่เครียด ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคุมอาหารให้สมดุล ทานให้ครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวาน มัน รับประทานผัก ผลไม้อย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้ามีอาการเตือนที่แสดงว่าเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราว ควรรีบมาพบแพทย์ถึงแม้ว่าอาการเหล่านั้นจะหายได้เองเป็นปกติ หากพบผู้ป่วยที่มีอาการ หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด โทรแจ้งที่หมายเลข 1669 ได้ทันที โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นภาวะฉุกเฉิน มีความจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนหากท่านพบว่าตัวท่านหรือบุคคลใดมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ควรนำส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือโรงพยาบาลที่มีช่องทางด่วนสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke fast track) ผู้ป่วยควรที่จะได้พบแพทย์โดยเร็วที่สุดภายใน 4.5 ชั่วโมง ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจะทำให้บริเวณสมองที่ขาดเลือดขยายขนาดเพิ่มมากขึ้น
ส่วนที่ห้องประชุมอาคารหลวงปู่หลิว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เรืออากาศเอก อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นประธานการประชุมซักซ้อมความเข้าใจการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับ โดยตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้พื้นที่มีการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแบบบูรณาการทั้งทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางด้านภูมิประเทศ การปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินต้องมีการประสานและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ โดยเฉพาะการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยานสามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่ต้องให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในพื้นที่ห่างไกลการคมนาคม จึงมีความจำเป็นต้องซักซ้อมความเข้าใจทั้งระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี