เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"เฉลิมชัย" นำคณะ กษ.เดินหน้าฟื้นฟู พื้นที่ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด 21 จังหวัด


23 ก.ย. 2562, 21:05



"เฉลิมชัย" นำคณะ กษ.เดินหน้าฟื้นฟู พื้นที่ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด 21 จังหวัด




วันนี้ (23 ก.ย. 62) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ร่วมกิจกรรม “จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแล เกษตรกรผู้ประสบภัย” โดยมีผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งประชาชนจิตอาสา ร่วมทำกิจกรรมพร้อมกัน ณ ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มนี้ชี-มูล (ส่วนหน้า) สำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มนี้ชี-มูล (ส่วนหน้า) จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุ “โพดุล” และพายุ “คาจิกิ” ที่เคลื่อนตัวเข้าสู้ประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวม 21 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี มหาสารคาม อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร ศรีสะเกษ สกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม อุดรธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และอุตรดิตถ์ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับราษฎรทั้งในด้านการประมง ด้านการปศุสัตว์ รวมถึงด้านการเกษตรต่างๆ ปัจจุบันสถานการณ์ในหลายพื้นที่ได้เริ่มคลี่คลาย บางพื้นที่กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ด้วยความห่วงใยราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจัดให้มีโครงการ “จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแล เกษตรกรผู้ประสบภัย” โดยทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแล เกษตรกรผู้ประสบภัยหลังน้ำลด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล ปัจจุบัน(23 ก.ย. 62 เวลา 08.00 น.) ที่สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,140 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำ(ฝั่งอำเภอวารินชำราบ) สูงกว่าตลิ่งประมาณ 2 เมตร และระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่สถานีวัดน้ำโขงเจียมต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูล อำเภอโขงเจียม 3.48 เมตร ส่งผลให้ทำการระบายน้ำเป็นไปด้วยดี ขณะนี้มีการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงมากกว่าวันละ 500 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตลอดลำน้ำมูล จำนวน 300 เครื่อง และทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง (Hydro Flow) จำนวน 15 เครื่อง บริเวณเหนือแก่งสะพือ สูบน้ำอ้อมแก่งฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้เร็วขึ้น คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมในพื้นที่ ระดับน้ำจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้

ในส่วนของกิจกรรม “จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแล เกษตรกรผู้ประสบภัย” ในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 21 จังหวัด รวมจำนวนจิตอาสากว่า 7,600 คน จะร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ชุมชน พื้นที่การเกษตร ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ตามมาตรการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ 1.สำรวจความเสียหาย เพื่อเร่งรัดการจ่ายเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ 2.จัดหน่วยเคลื่อนที่ เพื่อให้คำแนะนำการฟื้นฟู ดูแล ด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ 3.เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ทำการเกษตรและชุมชน 4.ปรับปรุง บำรุงดิน และการบำบัดน้ำเสีย 5.แจกเมล็ดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ให้แก่เกษตรกร 6.ปล่อยปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ 7.ช่วยซ่อมแซม เครื่องมือ เครื่องจักรกลทางการเกษตร 8.จัดกิจกรรมจิตอาสา เพื่อดูแลช่วยเหลือเกษตรกร และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.